สศอ.เผยผลสำรวจพบภาคอุตสาหกรรมจะขาดแคลนแรงงานเพิ่มเป็น 3 แสนคนในอีก 5 ปีข้างหน้าจาก 3.4 หมื่นคน เหตุสังคมไทยก้าวสู่วัยสูงอายุ แถมคนจบการศึกษาปริญญาตรีไม่สอดรับกับความต้องการ ทำใจแนวโน้มว่างงานเพิ่ม
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรมต่างๆ พบว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าอุตสาหกรรมไทยจะขาดแรงงานฝ่ายผลิตประมาณ 3 แสนคน และพบว่าแรงงานสูงอายุส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมแม้ว่าไทยจะขาดแคลนแรงงานแต่อัตราการว่างงานของคนไทยก็เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะระดับปริญญาตรีที่จะมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น
“คนไทยนิยมเรียนในระดับปริญญาตรีมากกว่าระดับอาชีวศึกษาที่เป็นกลุ่มที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการสูงสุด ทำให้ผู้ที่จบปริญญาตรีมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมาก ส่วนแรงงานในระดับ ปวช.-ปวส. มีอัตราการว่างงานน้อยที่สุด ขณะที่ภาคบริการมีส่วนสำคัญในการดึงแรงงานภาคอุตสาหกรรมออกไปเพราะมีอัตราค่าจ้างที่สูงกว่า โดยในปี2556 ภาคบริการมีค่าจ้างเฉลี่ย 17,623 บาท/เดือน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีค่าจ้างเฉลี่ย 10,968 บาท/เดือน” นายอุดมกล่าว
ทั้งนี้ สศอ.คาดว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตโดยการนำเครื่องจักร และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมจะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงได้ชัดภายใน 3 ปีข้างหน้านี้ เพราะสถานการณ์การแข่งขัน การลดต้นทุน และการหันไปผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง จะเป็นแรงบีบให้ภาคอุตสาหกรรมหันมาลงทุนใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ทดแทนแรงงานเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมประเทศไทยมีจำนวนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม 6,184,926 คน แบ่งเป็นแรงงานวิชาชีพ 1,102,464 คน และแรงงานฝ่ายผลิต 5,082,462 คน โดยแรงงานส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด 957,998 คน รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมยางและพลาสติก 571,607 คน และอุตสาหกรรมยานยนต์ 519,220 คน ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมไทยก็ขาดแคลนแรงงานฝ่ายผลิตมากที่สุดเช่นกัน ซึ่งแม้ว่าจะนำแรงงานต่างด้าวเข้ามากว่าล้านคนแล้วก็ยังขาดแรงงานอยู่ 34,717 คน