xs
xsm
sm
md
lg

“กูรู” ชี้ช่องลงทุนอาเซียน โกยตลาด 7.7 แสนล้านเหรียญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“เอคเซนเซอร์” เผยผลวิจัยตลาดอาเซียนในปี 2563 มีกลุ่มผู้บริโภคใหม่ 100 ล้านคน ส่งผลตลาดสินค้าอุปโภค-บริโภคมีมูลค่า 7.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 6 ของโลกด้วยมูลค่า 3.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ระบุแม้จะเป็นโอกาสทองนักลงทุนต่างชาติ แต่ต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะพฤติกรรมผู้บริโภคที่พร้อมจะเปลี่ยนใจใช้แบรนด์ใหม่สูงถึง 80% เหตุใช้โซเชียลมีเดียถึง 96%

นายนนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอคเซนเซอร์ ประเทศไทย จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาด้านการจัดการ การบริหารเทคโนโลยี และบริการเอาต์ซอร์สชั้นนำระดับโลก เปิดเผยถึงรายงานวิจัยล่าสุดเรื่อง “โอกาสที่พลาดไม่ได้ในอาเซียน : ผู้บริโภคใหม่ 100 ล้านรายกับตลาดมูลค่า 7.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ” ว่า รายงานดังกล่าวเป็นการเก็บข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโอกาสของธุรกิจเพื่อให้เกิดความเข้าใจในพลวัตของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งความต้องการของผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียน โดยทำแบบสำรวจออนไลน์จากผู้บริโภค 1.8 พันคนในประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม

รายงานดังกล่าวจัดทำขึ้นเมื่อปี 2556 แต่แสดงให้เห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศอาเซียนได้อย่างชัดเจนภายในปี 2563 ซึ่งถือเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และคาดว่าจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลกอันเนื่องมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

ภายในปี 2560 หรือ 5 ปีข้างหน้าประชากรในกลุ่มประเทศอาเซียนจะมีรายได้หลังหักภาษีเพิ่มขึ้นและมีฐานะขยับขึ้นไปอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูงขึ้น (กลุ่มเศรษฐีใหม่) ประมาณ 37 ล้านคน ส่งผลให้มีความสามารถจับจ่ายสินค้าระดับพรีเมียมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังจะมีประชากรประมาณ 60 ล้านคนเป็นกลุ่มผู้บริโภคใหม่ที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นภูมิภาคที่มีการจับจ่ายสินค้านอกเหนือจากสินค้าจำเป็นพื้นฐานเป็นครั้งแรก ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มผู้บริโภคที่ยังไม่ได้เปิดเผยศักยภาพอีกเป็นจำนวนมากที่อยู่ในชนชั้นฐานพีระมิด แต่มีบทบาทและอำนาจในการจับจ่ายสินค้าพื้นฐานประจำวัน

รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า ในปี 2560 ผู้บริโภคในกลุ่มประเทศอาเซียนจะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากจะมีประชากรจำนวน 24 ล้านครัวเรือนมีรายได้ขยับขึ้นเป็น 1-5.5 หมื่นเหรียญสหรัฐต่อปี ทำให้ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในภูมิภาคอาเซียนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องปีละประมาณ 9% โดยจะมีมูลค่า 2.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และเพิ่มเป็น 7.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 อันเป็นผลมาจากจำนวนของผู้บริโภคในเขตชุมชนเมืองที่จะเพิ่มสูงขึ้น 52% ของจำนวนประชากร หรือประมาณ 300 ล้านคน

การเพิ่มขึ้นของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศอาเซียนจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รูปแบบการบริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2563 ซึ่งคาดว่าขนาดเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนจะมีมูลค่าประมาณ 3.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจในยุโรปหลายๆ ประเทศ ทั้งสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และรัสเซีย เป็นรองเพียงประเทศอินเดียที่มีมูลค่า 3.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เยอรมนี 3.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น 6.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จีน 12.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และสหรัฐอเมริกา 19.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

นายนนทวัฒน์กล่าวอีกว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนจึงมีความน่าสนใจสำหรับนักธุรกิจต่างชาติ ซึ่งแม้จะมีความได้เปรียบในเรื่องประสบการณ์การดำเนินธุรกิจในระดับโลก แต่ก็จำเป็นต้องปรับตัว พร้อมเร่งศึกษาช่องทางและเริ่มดำเนินงานในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายๆ ด้าน

“นักลงทุนต่างชาติต้องเผชิญกับเรื่องของความไม่แน่นอนทางกฎระเบียบและการเมืองของแต่ละประเทศซึ่งถือว่ามีผลต่อการตัดสินใจใช้งบประมาณในการลงทุน ขณะเดียวกันยังต้องรับมือด้านการแข่งขันกับนักธุรกิจท้องถิ่นที่มีประสบการณ์และความเข้าใจในภูมิภาคที่มีความหลากหลายและแตกต่างกัน ทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม ศาสนา และภูมิประเทศ ซึ่งถือว่ามีผลต่อการขนส่งและกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภค”

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจคือการเข้าถึงผู้บริโภคซึ่งมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากมีความภักดีในสินค้า (Brand Loyalty) น้อยลง โดยพร้อมที่จะเปลี่ยนไปใช้สินค้าและบริการอื่นถึง 80% อันเป็นผลมาจากการใช้โซเชียลมีเดียของประชากรในภูมิภาคนี้ในการศึกษาข้อมูลผ่านทางออนไลน์ถึง 96% โดยมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ 77% และเชื่อในการรีวิวสินค้าและแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้รายอื่นๆ ผ่านทางออนไลน์ 64%

“พฤติกรรมผู้บริโภคดังกล่าวถือเป็นการปฏิสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากแบรนด์สู่ผู้บริโภค เป็นผู้บริโภคสู่ผู้บริโภคซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการทำตลาด เพราะฉะนั้นเจ้าของธุรกิจหรือแบรนด์จึงควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้มากกว่าการเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้า เพราะสามารถรวบรวมข้อมูลต่างๆ ของลูกค้าเพื่อนำมาวิเคราะห์ในการพัฒนาสินค้าและธุรกิจให้ตรงความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด”

นายนนทวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จในตลาดอาเซียนจำเป็นต้องมีความสามารถในการสร้างการรับรู้ในตัวสินค้าและบริการ พร้อมสร้างความภักดีด้วยการเปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนเริ่มตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อเข้าถึงตัวผู้บริโภคได้ตรงตามเป้าหมาย โดยต้องสร้างโมเดลการปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพและเหมาะกับตลาด พร้อมจัดการด้านการขนส่งและกระจายสินค้าได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนต้องมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่มักจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในแต่ละพื้นที่ที่มีทั้งความแตกต่างและตั้งอยู่กระจัดกระจาย




กำลังโหลดความคิดเห็น