พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินฉบับใหม่กำหนดงานพัฒนาระบบชลประทานในไร่นา 2 รูปแบบ มีทั้งจัดรูปที่ดินชนิดสมบูรณ์แบบ กับการผสมผสานงานคันคูน้ำร่วมกับการจัดรูปที่ดินชนิดกึ่งสมบูรณ์แบบ แถมยังเปิดให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในรูปคณะกรรมการจัดรูปที่ดินชุมชนอีกด้วย
นายกฤษณะ มงคลหัตถี ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมายจัดรูปที่ดิน สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยถึงรูปแบบงานจัดรูปที่ดิน ตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับใหม่รอบังคับใช้ว่า เป็นการยกเลิกกฎหมายเก่าทั้ง 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 และ พ.ร.บ.คันคูน้ำ พ.ศ. 2505 แล้วใช้กฎหมายใหม่อย่างเดียว
ทั้งนี้ ใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่แบ่งรูปแบบการพัฒนาเป็น 2 รูปแบบ โดยรูปแบบแรกเรียกว่า การจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม ประกอบด้วยงาน 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. งานสร้างคูส่งน้ำอย่างเดียว 2. งานสร้างคูส่งน้ำและคูระบายน้ำ 3. งานสร้างคูส่งน้ำและเส้นทางลำเลียง 4. งานสร้างคูส่งน้ำ คูระบายน้ำ และเส้นทางลำเลียง
“งานที่ 1 เหมือนงานคันคูน้ำเดิม เช่นเดียวกับงานที่ 4 เป็นงานจัดรูปแบบกึ่งสมบูรณ์แบบ คือ ก่อสร้างลัดเลาะแปลงที่ดินเดิม”
ส่วนงานจัดรูปที่ดิน จะเป็นงานพัฒนาประเภทสมบูรณ์แบบ ประกอบด้วยงานสร้างคูส่งน้ำ คูระบายน้ำ เส้นทางลำเลียง และการจัดรูปแปลงที่ดินใหม่ หรือในบางกรณีที่ต้องปรับระดับดินก็ทำพร้อมกันไปด้วย
นายกฤษณะกล่าวอีกว่า กฎหมายใหม่จะเปิดโอกาสให้เกษตรกรมีส่วนร่วมกันมากขึ้น โดยมีการตั้งคณะกรรมการจัดรูปที่ดินชุมชน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจาก 2 ส่วน โดยส่วนหนึ่งจากผู้บริหารท้องถิ่นโดยตำแหน่ง อีกส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งกันเองของชุมชน
“คณะกรรมการจัดรูปที่ดินชุมชน เป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจโดยผ่านคณะกรรมการชุดนี้ เช่น ในกรณีการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมก็แล้วแต่จะเลือกรูปแบบ หรือกรณีงานจัดรูปที่ดินก็จะพิจารณาแบบที่สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางนำเสนอ ซึ่งจะทำให้การก่อสร้างราบรื่นยิ่งขึ้น เพราะแบบที่อนุมัติหรือแก้ไขมาจากความเห็นชอบของคณะกรรมการฯ ในชั้นสุดท้าย” นายกฤษณะกล่าว