“บีโอไอ” เผยทิศทางนักลงทุนทยอยเปิดโรงงาน ล่าสุดยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากสหรัฐอเมริกาลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ตั้งเป้าผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานพาหนะที่ผลิตจากเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งแรกในไทย รองรับตลาดส่งออกไปภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และอเมริกา
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2558 ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการไทยและต่างชาติที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนแจ้งเปิดกิจการโรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรงงานการผลิตในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของการเป็นฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทย รวมถึงตอกย้ำความมั่นใจให้แก่นักลงทุนรายใหม่ที่มีความสนใจจะเข้ามาลงทุนในไทยด้วย
ล่าสุดบริษัท ทีอี คอนเน็คทิวิตี้ แมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ทีอี คอนเน็คทิวิตี้ กรุ๊ป ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลกจากสหรัฐอเมริกา ได้เปิดโรงงานแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยโรงงานดังกล่าวมีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,084 ล้านบาท เพื่อเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานพาหนะที่สำคัญ 2 ประเภท ได้แก่
การผลิตขั้วต่อ (Terminal) ซึ่งทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อวงจรและสายสัญญาณ และการผลิตขั้วต่อสัญญาณ (Header/Connector) โดยมีแผนจะเป็นการผลิตเพื่อส่งออกสูงถึง 80% ไปยังลูกค้าที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ เช่น อาเซียน ยุโรป และอเมริกา ขณะที่บางส่วนจะจำหน่ายให้แก่ผู้ผลิตในประเทศ ทั้งนี้ ตามแผนงานของบริษัทจะมีการใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนในประเทศ เช่น เม็ดพลาสติก และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จากผู้ผลิตในประเทศไทย
นายสตีฟ เมิร์ก ประธานบริษัท ทีอี คอนเน็คทิวิตี้ (ทรานสปอตเทชั่น โซลูชั่น) กล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนในไทยเนื่องจากมองว่าประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยไทยเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของอาเซียนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีการลงทุนของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนรายสำคัญจำนวนมาก การตั้งฐานผลิตในไทยทำให้บริษัทสามารถผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงป้อนลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศได้อย่างลงตัว
สำหรับบริษัท ทีอี คอนเน็คทิวิตี้ แมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอตั้งแต่ปี 2556 โดยจะมีการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานพาหนะ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีกำลังการผลิตขั้วต่อ และขั้วต่อสัญญาณ กำลังผลิตปีละกว่า 1 พันล้านชิ้น