กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมรวบรวมความเห็นประกอบทำแนวทางปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมโดยเฉพาะแนวทางการลอยตัวราคา ชง “จักรมณฑ์” ภายใน พ.ค.นี้ หลังชาวไร่-โรงงานค้านหนัก เหตุยังไม่มีกรอบที่ชัดเจนแถมช่วงราคาโลกตกต่ำ ย้ำระบบปัจจุบันดีสุดแล้ว
นายสมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ว่า ทางชาวไร่และโรงงานได้มาแสดงความคิดเห็นถึงแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยฯ ซึ่งจะได้นำความเห็นทั้งหมดสรุปร่วมกับทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะสรุปแนวทางเพื่อเสนอนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม พิจารณาภายในต้นเดือน พ.ค.นี้
ทั้งนี้ สิ่งที่ชาวไร่ฯ และโรงงานมีความเป็นห่วง ที่สำคัญคือ 1. ราคาน้ำตาลตลาดโลกจะเป็นอย่างไรต้องมั่นใจว่าน้ำตาลในประเทศต้องเพียงพอ 2. ราคาอ้อยจะต้องไม่ผันผวนจนกระทบรายได้เกษตรกร และ 3. กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะต้องมีเสถียรภาพและมีความมั่นคง เป็นต้น
นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยมีความกังวลต่อนโยบายการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะเดินหน้าดำเนินการในฤดูหีบหน้า (2558/59) หรือช่วง พ.ย.นี้ โดยเห็นว่ายังเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมควรใช้ระบบเดิมไปก่อนเนื่องจากกรอบดำเนินการต่างๆ ยังไม่มีความชัดเจน
การที่กระทรวงอุตสากรรมส่งสัญญาณการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายออกไปทำให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไม่พิจารณาการปล่อยกู้เงินช่วยเหลือค่าอ้อยเพิ่มเติมฤดูการผลิตปี 2557/58 ที่ชาวไร่กำลังเรียกร้องอยู่ได้ เพราะการลอยตัวราคาน้ำตาลอาจนำมาซึ่งการยกเลิกเก็บเงินจากราคาขายน้ำตาลทราย 5บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ซึ่งเป็นรายได้หลักในการชำระหนี้
“แทนที่รัฐจะแก้ไขปัญหาราคาอ้อยขั้นต้นที่ตกต่ำหลังจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ประกาศไว้ที่ 900 บาทต่อตัน ซึ่งชาวไร่เสนอขอกู้เพิ่มอีก 160 บาทต่อตันด้วยการกู้ ธ.ก.ส.เหมือนที่ผ่านมา ระยะสั้นนี้ควรทำเรื่องนี้ก่อนจะดีกว่าไหม ซึ่งที่ประชุมก็รับว่าจะหารือกันในวันที่ 17 ก.พ.นี้อีกรอบ” นายธีระชัยกล่าว
นางชนิดา อัษฎาธร รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง กล่าวว่า โครงสร้างปัจจุบันดีอยู่แล้วไม่ต้องทำอะไรในช่วงจังหวะราคาโลกตกต่ำ การลอยตัวจะกระทบชาวไร่อ้อยจะทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องทั้งระบบ
นายจำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL กล่าวว่า ระยะสั้นนี้ไม่เห็นด้วยที่รัฐจะลอยตัวน้ำตาล เพราะหากจะลอยตัวต้องให้แนวทางมีความชัดเจนก่อนเพราะโครงสร้างอุตสาหกรรมนี้มีความสลับซับซ้อนมาก