xs
xsm
sm
md
lg

ชุมชนยื่น 5 ข้อเสนอตั้งนิคมอุตสาหกรรมยาง คาดปี 60 แล้วเสร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กนอ.เดินหน้าพัฒนานิคมอุตสาหกรรมยางพารา จ.สงขลา ลงพื้นที่ภาคใต้ครั้งที่ 1 เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการ-ชุมชน เผยชุมชนพร้อมสนับสนุนการจัดตั้งนิคมฯ เสนอแนะ 5 แนวทางเพื่อให้ชุมชนอยู่ร่วมกับนิคมฯ ได้อย่างยั่งยืน


นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.เดินหน้าพัฒนาและจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพาราที่จังหวัดสงขลา โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2557 ที่ผ่านมาคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ กนอ.ได้ลงพื้นที่เปิดเวทีจัดกิจกรรมสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการ “โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบนิคมอุตสาหกรรมยางพารา ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา” โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบการ และ ผู้นำชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ 12 ชุมชน เช่น ชุมชนบ้านทุ่งรื่น ชุมชนบ้านหลุมหัวล้าน ชุมชนบ้านไร่อ้อย ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ที่จะใช้ในการจัดตั้งนิคมฯ ยางพารา เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ จำนวนมาก

ทั้งนี้ เบื้องต้นภาคชุมชนได้แสดงความคิดเห็นพร้อมเสนอแนะต่อ กนอ.ในการพัฒนาจัดตั้งนิคมฯ ยางพารา โดยต้องการให้ผู้พัฒนานิคมฯ มีการดำเนินงานในด้านต่างๆ ดังนี้ 1. การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมภายในนิคมฯ ที่จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่บริเวณรอบนิคมฯ ทั้งในด้านกลิ่น ฝุ่น และน้ำเสีย 2. นิคมฯ จะต้องมีการจัดตั้งระบบกองทุนด้านสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมให้บริการ ดูแล และเยียวยา ในกรณีหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ได้ทันท่วงที 3. จะต้องจัดตั้งศูนย์พยาบาล โรงพยาบาล และหน่วยรถกู้ภัยให้พร้อมบริการ 4. ชุมชนในพื้นที่รอบนิคมฯ จะต้องได้รับโอกาสในการเข้าสู่การทำงานในนิคมฯ มากขึ้น และ 5. กนอ.จะต้องมีการจัดกิจกรรมสัมมนารับฟังความคิดเห็นไปยังชุมชนอื่นๆ ที่อยู่บริเวณรอบนิคมฯ เพิ่มขึ้น เพื่อกระจายการรับรู้ให้รับทราบอย่างทั่วถึง

ขณะที่ผู้ประกอบการต่างเห็นด้วยกับการจัดตั้งนิคมฯ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสม และมีศักยภาพสูง พร้อมรองรับอุตสาหกรรมยางที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจำนวนมาก อีกทั้งกลุ่มเกษตรกรสวนยางพาราส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งหากการจัดตั้งนิคมฯ แล้วเสร็จจะมีส่วนช่วยเรื่องการซื้อยางพาราให้มีเสถียรภาพดีขึ้น

“การรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้นับว่าเป็นประโยชน์ โดย กนอ.ในฐานะผู้พัฒนานิคมฯ จะนำไปประกอบการพัฒนาออกแบบจัดตั้งนิคมฯ ยางพาราต่อไป” ดร.วีรพงศ์กล่าว

สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งนิคมฯ ดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานการพัฒนาพื้นที่ ระยะที่ 3 ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา พื้นที่ประมาณ 755 ไร่ โดยคาดว่าจะดำเนินการเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2558 แล้วเสร็จในปี 2560 ซึ่งการพัฒนาโครงการดังกล่าวคาดว่าจะมีการปรับตัวของราคายางพาราดีขึ้น และจะช่วยเพิ่มมูลค่าก่อให้เกิดการลงทุนภาคอุตสาหกรรมประมาณ 6,300 ล้านบาท มีความต้องการใช้ยางธรรมชาติเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าเพิ่มประมาณ 3,700 ล้านบาท/ปี และเกิดการจ้างงานโดยตรงในพื้นที่ประมาณ 3,000 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น