เอกรัฐฯ ลุ้นระเบียบซื้อไฟโซลาร์เซลล์จากสหกรณ์การเกษตรและหน่วยงานราชการ 800 เมกะวัตต์จากภาครัฐหวังกำหนดสเปกผู้ยื่นต้องได้ มอก.1843 หากไม่มีกำหนดจ่อร้องศาลฯ หลังกรมบัญชีกลางทำหนังสือแจ้ง พพ. ยืนยันต้องทำตามระเบียบสำนักนายกฯ ที่เน้นใช้ของที่ผลิตในไทยก่อน
นายดนุชา น้อยใจบุญ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ AKR เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการติดตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากสหกรณ์การเกษตรและหน่วยงานราชการจำนวน 800 เมกะวัตต์ (MW) จากภาครัฐ โดยเฉพาะจะมีเงื่อนไขการกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นที่ต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก.1843 หรือไม่ ซึ่งหากไม่กำหนดผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศก็อาจจะพิจารณายื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง
“การรับซื้อไฟจากโครงการข้างต้นกำหนดจะต้องจ่ายไฟเข้าระบบหรือ COD ภายใน ธ.ค. 58 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการออกระเบียบรับซื้ออย่างเป็นทางการ ซึ่งควรเร่งออกระเบียบรับซื้อเพื่อให้ทันกำหนดดังกล่าวและรวมถึงความชัดเจนถึงคุณสมบัติด้วยเพราะโครงการนี้เป็นการรับซื้อไฟจากโครงการรัฐต้องยึดระเบียบจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง” นายดนุชากล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้มีหนังสือแจ้งไปยังกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เมื่อปลาย ต.ค.ที่ผ่านมาแล้วว่า ระเบียบรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์จะต้องกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นที่ต้องเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีปี 2535 หัวข้อถ้ามีผู้ผลิตไทยที่ได้รับ มอก. (มอก.1843) เกิน 3 รายขึ้นไปจะต้องจัดซื้อจัดจ้างจากบริษัทภายในประเทศก่อนเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานมีการเลี่ยงโดยกำหนดติดตั้งทั้งระบบซึ่งทำให้ไม่มีเอกชนไทยผลิตได้ทั้งหมด แต่หลังจากที่มีผู้ไปร้องเรียนกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังจึงได้สรุปให้ทำตามระเบียบ
“ล่าสุด พพ.ได้เตรียมเปิดประมูลเพื่อจัดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับโรงเรียนชนบท 10 แห่ง มูลค่าประมาณ 9 ล้านบาท โดยได้กำหนดระเบียบตามที่กรมบัญชีกลางระบุในเรื่องของคุณสมบัติต้องผ่าน มอก. โดยปัจจุบันผู้ผลิตทั้งเซลล์และแผงโซลาร์ในไทยมี 4 ราย ได้แก่ เอกรัฐโซลาร์, โซลาร์ตรอน, ฟู โซลาร์ และโซลาร์ พาวเวอร์ ดังนั้นบริษัทจะประมูลโครงการนี้ด้วย” นายดนุชากล่าว