ไทยเตรียมลดโควตานำเข้าเหล็กจากญี่ปุ่นภายใต้โครงการเจเทปา หลังที่ผ่านมาการนำเข้าเหล็กจากญี่ปุ่นสูงมากกว่าการใช้หลังการผลิตรถยนต์ในประเทศปี 2557 ต่ำกว่าเป้าหมาย ส่วนจะลดเท่าไหร่เตรียมหารืออีกครั้ง คาดว่าจะได้ข้อสรุป 11 ธ.ค.นี้
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึงการหารือความร่วมมืออุตสาหกรรมเหล็กไทย-ญี่ปุ่น ตามข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปา) ที่ประเทศญี่ปุ่นว่า สศอ.อยู่ระหว่างหารือปรับลดโควตานำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากญี่ปุ่น ให้นำเข้าตามปริมาณการใช้จริงเท่านั้น เนื่องจากปีที่ผ่านมาไทยนำเข้าเหล็กจากญี่ปุ่นสูงมาก เพราะคาดว่าจะผลิตรถยนต์ได้ 2.5-2.6 ล้านคัน แต่ผลิตจริงได้ 2.4 ล้านคัน ทำให้มีปริมาณเหล็กส่วนเกินค้างในปี 57 จำนวนหนึ่ง รวมทั้งต้องการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องใช้เหล็กในประเทศมากขึ้น ส่วนโควตานำเข้าลดลงเท่าไรจะหารือร่วมกับญี่ปุ่นอีกครั้ง คาดว่าได้ข้อสรุปวันที่ 11 ธ.ค.และจะแจ้งให้กระทรวงพาณิชย์ประกาศโควตานำเข้าต่อไป
“สศอ.มีนโยบายที่จะพิจารณาปรับลดโควตานำเข้าเหล็กจากญี่ปุ่นลงให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจปีหน้า จากที่ในช่วง 10 ปี (2550-2559) ตามข้อตกลงเจเทปา ไทยยกเว้นภาษีนำเข้าเหล็กให้ญี่ปุ่นมากถึง 80% จากที่นำเข้ามาทั้งหมดที่มีปริมาณมากถึงปีละประมาณ 1-1.2 ล้านตันต่อปี โดย สศอ.จะแจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์ให้ประกาศโควตานำเข้าต่อไป” นายอุดมกล่าว
นอกจากนี้ สศอ.ยังมีนโยบายที่จะส่งเสริมและยกระดับศักยภาพศูนย์ทดสอบของสถาบันเหล็กสู่การเป็นศูนย์ทดสอบของอาเซียน โดยเป้าหมายการยกระดับ คือการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเหล็กของไทย ซึ่งเรื่องนี้จะหารือกับทางญี่ปุ่น เพื่อช่วยเหลือให้บรรลุผลตามข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นต่อไป
สำหรับความต้องการใช้เหล็กในประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อีกส่วนใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งใช้น้อยกว่าภาคอุตสาหกรรมเล็กน้อย ปีหน้าคาดว่าจะมีความต้องการใช้เหล็ก 17-17.4 ล้านตัน แบ่งเป็นเหล็กที่ผลิตในประเทศ 6.2 ล้านตัน ที่เหลือนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งภาวะความต้องการใช้เหล็กค่อนข้างทรงตัวจากปีนี้ เพราะโครงการลงทุนภาครัฐแม้อนุมัติปลายปีนี้และต้นปีหน้ากว่าจะดำเนินการก่อสร้างจะต้องใช้เวลา คาคว่าจะเริ่มปลายปี 2558 ถึงต้นปี 2559 ทำให้ความต้องการใช้ในประเทศปีหน้าคงเพิ่มขึ้นไม่เกิน 3%