xs
xsm
sm
md
lg

“COTTON USA” รีแบรนด์ทั่วโลก เปิดตัว 5 พันธมิตรใหม่ในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ไกรภพ แพ่งสภา” (ที่ 3 จากซ้าย) ตัวแทน “คอตตอน ยูเอสเอ” (COTTON USA) ภูมิภาคอาเซียน
COTTON USA ปรับใหญ่ “รีแบรนดิ้ง-รีคอนซูเมอร์” ทุ่มงบฯ การตลาด 12 ล้านเหรียญสหรัฐพลิกโฉมใหม่ เตรียมเปิดตัว TVC - แคมเปญใหญ่พร้อมกันทั่วโลกต้นเดือน มี.ค.58 หวังสร้างการรับรู้เพิ่มขึ้น 10% ด้านตลาดไทยอัดงบ 21 ล้านบาท พร้อมเปิดตัว 5 แบรนด์พาร์ทเนอร์รายใหญ่ ตั้งเป้าปี 58 ดึง “แบรนด์ ดีไซเนอร์ไทย” เดินเกมตลาดใหม่เป็นครั้งแรกในโลก

นายไกรภพ แพ่งสภา ตัวแทน “คอตตอน ยูเอสเอ” (COTTON USA) ภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยว่า ในโอกาสที่ผลิตภัณฑ์จากฝ้ายธรรมชาติ “COTTON USA” สร้างการรับรู้ ทัศนคติที่ดี และความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จากฝ้ายธรรมชาติให้แก่ผู้บริโภคผ่านสัญลักษณ์ “COTTON USA” เป็นเวลาครบรอบ 25 ปี จึงได้มีการรีแบรนดิ้งเพื่อปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้เป็น “ไลฟ์สไตล์ แบรนด์” (Lifestyle Brand) และมีความทันสมัยมากขึ้น โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 12 ล้านเหรียญสหรัฐในการจัดกิจกรรมต่างๆ พร้อมกันทั่วโลก

การรีแบรนดิ้งครั้งนี้ยังเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายใหม่จากเดิมที่เคยทำการศึกษาวิจัยพบว่ากลุ่มลูกค้าที่มีอำนาจการตัดสินใจซื้อสูงสุดคือ ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี แต่ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง โดยมีไลฟ์สไตล์และความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น จึงมุ่งเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ 3 กลุ่ม คือ ผู้รักและชื่นชอบผลิตภัณฑ์ผ้าคอตตอนจากฝ้ายธรรมชาติ (Cotton Lovers) กลุ่มครอบครัวรุ่นใหม่ (Modern Family) และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจแฟชั่น สิ่งแวดล้อม และชื่นชอบผ้าฝ้าย (Fashion Plus) โดยยังคงยึดมั่นในจุดยืนทางการตลาดที่เน้นเรื่องความบริสุทธิ์ของเส้นใยฝ้ายสหรัฐอเมริกาที่คัดสรรมาผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ติดตราสัญลักษณ์ “COTTON USA” มากกว่า 3 พันล้านชิ้น คิดเป็นจำนวนกว่า 5 หมื่นกลุ่มผลิตภัณฑ์ครอบคลุมใน 50 ประเทศทั่วโลก ในขณะที่ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ที่ติดตราสัญลักษณ์ “COTTON USA” ทั้งสิ้นประมาณ 7 ล้านชิ้น โดยคาดว่าภายในสิ้นปี 2557 จะมีผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% เนื่องจากมีการเพิ่มพันธมิตร หรือ Brand Partner เพิ่มขึ้นอีก 5 แบรนด์ คือ กลุ่มเสื้อผ้าเด็ก 2 แบรนด์ ได้แก่ “กาโด้” (CAEAU) แบรนด์เสื้อผ้าเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ และ “พีเจ คิดส์” (PJ Kids) แบรนด์เสื้อผ้าเด็กโตอายุ 4-10 ขวบ ในเครือของเซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเสื้อผ้าสุภาพบุรุษ 3 แบรนด์ ได้แก่ “เอ็กเซอเลนซี่” (EXCELLENCY) “คาคิ บรอส” (Khaki Bros) และ “แอลทีดี” (LTD)

“การรีแบรนดิ้งครั้งนี้เริ่มดำเนินการพร้อมกันทั่วโลกตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยในส่วนของประเทศไทยใช้งบประมาณ 21 ล้านบาทในการสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภค พร้อมดำเนินกิจกรรมการตลาดอื่นๆ รวมถึงเปิดตัวสินค้าคอลเลกชันใหม่ของทั้ง 5 แบรนด์พาร์ตเนอร์ใหม่ ซึ่งจะเริ่มติดสัญลักษณ์ใหม่ของ COTTON USA ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 โดยคาดว่าจะเริ่มทยอยเปลี่ยนสัญลักษณ์ใหม่ให้แบรนด์พาร์ตเนอร์ทั้งหมดภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 โดยในช่วงเดือนมีนาคม 2558 จะมีการเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาและแคมเปญการตลาดใหญ่ทั่วโลก คาดว่าจะช่วยเพิ่มการรับรู้ผู้บริโภคสูงขึ้นอีก 10%”

ปัจจุบัน COTTON USA ประเทศไทย มีแบรนด์พาร์ตเนอร์ทั้งสิ้น 33 แบรนด์ใน 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ เรียงลำดับตามยอดขายสูงสุด ได้แก่ กลุ่มเสื้อผ้าเด็ก 11 แบรนด์ กลุ่มเสื้อผ้าผู้ชาย 10 แบรนด์ กลุ่มผ้าขนหนูและผ้าปูที่นอน 5 แบรนด์ กลุ่มชุดชั้นในชาย 4 แบรนด์ และกลุ่มเสื้อผ้าผู้หญิงและเด็ก 3 แบรนด์ นอกจากนี้ยังมีไลเซนส์ซี 5 บริษัท และซัปพลายเออร์โรงงานสิ่งทออีก 10 บริษัท

สำหรับช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาของปี 2557 COTTON USA มีการทำกิจกรรมทางการตลาดร่วมกับแบรนด์พาร์ตเนอร์ทุกรายเพื่อช่วยกระตุ้นยอดขาย ทั้งยังมุ่งเน้นสร้างความเชื่อมโยงผู้ผลิตในกลุ่มซัปพลายเชนฝ้าย โดยการเน้นการสร้างความสัมพันธ์อันดีเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ โดยคาดว่า COTTON USA ไลเซนซี และซัปพลายเออร์จะได้รู้จักกับคู่ค้ามากขึ้น และต่อยอดความสัมพันธ์จากคู่ค้ากลายเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมผลิตสินค้าจากฝ้ายออกสู่ตลาดมากขึ้น

“ในปี 2558 เรามีเป้าหมายที่จะเชิญชวนแบรนด์ดีไซเนอร์ไทยเข้าร่วมเป็นแบรนด์พาร์ตเนอร์อีกอย่างน้อย 3-5 แบรนด์ เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายไปสู่กลุ่มแฟชั่นได้มากขึ้น โดยขณะนี้เริ่มมีการเจรจาในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งหากได้รับการตอบรับจะถือเป็นการขยายแบรนด์พาร์ตเนอร์โดยใช้ดีไซเนอร์ท้องถิ่นในการทำตลาดเป็นครั้งแรกของ COTTON USA”

นายไกรภพ กล่าวเสริมอีกว่า จากผลสำรวจของ 2013 COTTON USA Mark Tracking Survey พบว่า ผู้บริโภคไทยรับรู้คุณภาพผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้ายสหรัฐอเมริกาสูงถึง 75% และรับรู้ด้านความสวมใส่สบายของผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้ายสหรัฐอเมริกา 70% ในขณะที่มีทัศนคติด้านคุณภาพต่อฝ้ายสหรัฐอเมริกามากกว่าฝ้ายจากแหล่งผลิตอื่นถึง 47% และมีทัศนคติต่อความสวมใส่สบายของฝ้ายสหรัฐอเมริกามากกว่าฝ้ายจากแหล่งผลิตอื่นถึง 40% แสดงให้เห็นว่าทัศนคติของผู้บริโภคคนไทยที่มีต่อคุณสมบัติของเส้นใยฝ้ายสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นเส้นใยธรรมชาติ ไม่มีการสังเคราะห์ เป็นไปในเชิงบวกมากขึ้น

ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาถือเป็นผู้ผลิตฝ้ายธรรมชาติรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก แต่เป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ในขณะที่ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าอันดับ 7 ของโลก แต่ละปีมีการนำเข้าประมาณ 4 แสนตันต่อปี


กำลังโหลดความคิดเห็น