กรมพัฒนาที่ดินชูปอเทืองเป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว จากแต่เดิมใช้เฉพาะในที่ดอนสำหรับพืชไร่จำพวกอ้อย มันสำปะหลัง โดยกำหนดปลูกหลังเกี่ยวข้าวซึ่งยังมีความชื้นหลงเหลืออยู่ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร กรณีปลูกโสนแอฟริกันช่วงต้นฤดูฝนไม่ได้
นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ในฐานะโฆษกกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินกำลังวางแผนส่งเสริมเกษตรกรปลูกปอเทืองเพิ่มขึ้น เนื่องจากพบว่ามีศักยภาพสูงในบรรดาปุ๋ยพืชสดด้วยกัน เพราะสามารถปลูกได้ทั้งในที่ดอน และที่ราบลุ่ม
แต่เดิมปอเทืองมักจำกัดปลูกในพื้นที่ดอนสำหรับเป็นปุ๋ยให้พืชไร่ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง เพราะไม่ชอบน้ำมาก ในขณะเดียวกัน ในพื้นที่ราบมีน้ำท่วมขังเช่นนาข้าว ก็ส่งเสริมให้ปลูกโสนแอฟริกัน ซึ่งชอบน้ำ
“จากการทดสอบล่าสุดกรมพัฒนาที่ดินพบว่าสามารถปลูกและใช้ปอเทืองเป็นปุ๋ยพืชสดได้ทั้งในที่ดอน และที่ราบ โดยในที่ดอนปลูกช่วงก่อนฤดูฝนหรือต้นฝนประมาณเดือนพฤษภาคม แล้วไถกลบ ส่วนที่ราบหรือราบลุ่มให้ปลูกปอเทืองหลังเกี่ยวข้าว ประมาณเดือนพฤศจิกายนเลยไปจนถึงมกราคม แล้วไถกลบเป็นปุ๋ยสำหรับฤดูนาปีถัดไป”
การที่ปอเทืองปลูกในที่ราบหรือราบลุ่มหลังเก็บเกี่ยวได้ เนื่องจากดินมีความชื้นหลงเหลืออยู่พอที่เจริญเติบโตได้
“เกษตรกรสามารถหว่านในช่วงข้าวกำลังแก่ พอเก็บเกี่ยวจะใช้คนหรือเครื่องจักรก็ต้องย่ำดิน ซึ่งจะกดเมล็ดพันธุ์ปอเทืองลงไปฝังในดินโดยไม่เป็นอันตรายต่อเมล็ดพันธุ์ จากนั้นก็จะค่อยๆ เจริญเติบโต ภายใน 60 วันต้นปอเทืองกำลังออกดอกก็ไถกลบทันที ซึ่งจะให้อินทรียสาร (Biomass) มาก ช่วยให้ต้นข้าวเติบโตให้ผลผลิตดียิ่งขึ้น”
โฆษกกรมพัฒนาที่ดินกล่าวว่า การปลูกโสนแอฟริกันต้นฤดูฝนบางครั้งเผชิญปัญหาฝนมาล่าหรือทิ้งช่วง ทำให้ปลูกโสนแอฟริกันอาจไม่ได้ผล การมีปอเทืองปลูกหลังการเกี่ยวข้าวก็ทำให้เกษตรกรมีทางออกมากขึ้นในการปรับปรุงบำรุงดิน
“เกษตรกรไทยเองนิยมปลูกปอเทืองมากกว่าปุ๋ยพืชสดอื่นอยู่แล้ว เนื่องจากมีดอกสีเหลืองสวยงามจนเป็นทุ่งปอเทืองเหลืองอร่าม กลายเป็นแหล่งสำหรับนักท่องเที่ยวถ่ายรูป ก่อนไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดให้ประโยชน์เป็นครั้งสุดท้าย”