xs
xsm
sm
md
lg

เผยแผนบำรุงดินในประเทศไทยปี 58 มุ่งเน้นการใช้ปุ๋ยพืชสดเป็นอันดับแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เผยทิศทางปรับปรุงบำรุงดินประเทศไทยปี 2558 กรมพัฒนาที่ดินมุ่งให้ความสำคัญการใช้ปุ๋ยพืชสดเป็นอันดับ 1 ทั้งส่งเสริมปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์และใช้เป็นปุ๋ยพืชสดโดยตรง แถมยังให้เพิ่มชนิดพืชปุ๋ยสดมากกว่า 5 ชนิดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เผยประสบปัญหาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรหมดเกลี้ยง เพราะสามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ทั้งหมด

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ในฐานะโฆษกกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า นโยบายการปรับปรุงบำรุงดินสำหรับปีงบประมาณ 2558 ของนายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน มุ่งให้ความสำคัญต่อการใช้ปุ๋ยพืชสดเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเห็นว่าปุ๋ยพืชสดมีศักยภาพในการเพิ่มอินทรียวัตถุในดินได้ดี เช่น ในพื้นที่ 1 ไร่หว่านเมล็ดพันธุ์ปุ๋ยพืชสด 5 กิโลกรัม สามารถเพิ่มอินทรียวัตถุได้ถึง 10-20 ตัน ขณะเดียวกันวัตถุดิบเดิมที่ใช้เพิ่มอินทรียวัตถุหาได้ยากขึ้น เนื่องจากนำไปใช้ในกิจการอื่น เช่น ฟางข้าว ใช้เป็นอาหารแห้งของปศุสัตว์ แกลบใช้ในกิจการพลังงานทดแทน เช่นเดียวกับวัสดุเหลือใช้จากอ้อย

ปุ๋ยพืชสดที่กรมพัฒนาที่ดินส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกและไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด ได้แก่ ปอเทือง โสนแอฟริกัน ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม และถั่วมะแฮะ โดยมีปริมาณการใช้ประมาณปีละ 5,000 ตัน

“เศษวัสดุทางการเกษตรแต่เดิมเหลือทิ้งมาก แต่ปัจจุบันแทบไม่เหลือ แม้มีเงินก็หาซื้อไม่ได้เพราะไม่มีของ และนำใช้ไปในกิจการในเชิงพาณิชย์แทบทั้งหมด ดังนั้นกรมพัฒนาที่ดินจึงต้องมุ่งส่งเสริมให้เป็นรูปธรรม และเป็นหลักประกันความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งยังต้องเสาะหาพืชปุ๋ยสดตัวอื่นเข้ามาเพิ่มเติมอีก เพราะทั้ง 5 ชนิดเราใช้มานานแล้ว”

นางกุลรัศมิ์กล่าวต่อไปว่า การส่งเสริมใช้ปุ๋ยพืชสดในไร่นา นอกจากเป็นการปรับปรุงบำรุงดินให้ร่วนซุยเหมาะแก่การปลูกพืชแล้ว ยังลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงในระดับหนึ่ง โดยที่ให้ผลผลิตยังคงที่หรือเพิ่มขึ้นกว่าเดิม สอดคล้องกับนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หาวิธีลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร

ทั้งนี้ กรมฯ จะส่งเสริมให้เกษตรกรใน 2 ระดับ ทั้งในระดับการผลิตเมล็ดพันธุ์ปุ๋ยพืชสด โดยกรมฯ รับประกันการรับซื้อเมล็ดพันธุ์จากเกษตรกรผู้ปลูก และในระดับการใช้ โดยแจกเมล็ดพันธุ์ปุ๋ยพืชสดเพื่อปลูกและไถกลบเป็นอินทรียวัตถุ

“ปลายทางก็ต้องไถกลบเหมือนกัน ในกรณีผลิตเมล็ดพันธุ์ก็ต้องรอให้ออกดอกและฝักจนฝักแก่จึงเก็บเกี่ยวแล้วไถกลบ ซึ่งจะให้ธาตุอาหารและปริมาณอินทรียสาร (Biomass) น้อยกว่าการใช้เป็นปุ๋ยพืชสดโดยตรงที่หว่านแล้วไถกลบทันทีขณะออกดอกระยะ 45 วัน” โฆษกกรมพัฒนาที่ดินกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น