“สมาคมศูนย์การค้าไทย” เดินหน้าไม่หยุด ผลักดันไทยให้เป็น “ช้อปปิ้ง ฮับ เอเชีย” ให้ได้ กระทุ้งรัฐบาลอีกรอบลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนม หวังดึงกำลังซื้อต่างประเทศเต็มที่ แม้เคลื่อนไหวมาหลายปีไม่สำเร็จก็ยังทำต่อ เผยตัวเลขอแค่สมาชิก 10 ราย อัดงบลงทุน 3 ปีจากนี้ 80,000 ล้านบาท
นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ มองว่าธุรกิจศูนย์การค้าของไทยถือเป็นกลไกที่สำคัญในการพัฒนาสร้างความเจริญให้แก่ประเทศและสังคมไทย การพัฒนาโครงการต่างๆ ของกลุ่มธุรกิจศูนย์การค้ายังมีส่วนที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้ประเทศในหลายมุมด้วย ทั้งในแง่ของการนำพาเศรษฐกิจ สร้างการเติบโตให้กับค่าจีดีพีของประเทศ สร้างความเจริญให้ชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่มในแง่การลงทุนต่อเนื่อง
จากการพิจารณาเฉพาะสมาชิกของสมาคมฯ ที่มีจำนวน 10 รายแล้ว ในช่วง 3 ปีตั้งแต่ปี 2557-2559 จะมีเม็ดเงินลงทุนด้านศูนย์การค้าใหม่ๆ รวมกันประมาณ 8 หมื่นล้านบาท และจะมีพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 5 แสนตารางเมตร จากปัจจุบันที่รวมพื้นที่ศูนย์การค้าและค้าปลีกต่างๆ ของสมาชิกทั้ง 10 รายแล้วมีประมาณ 11 ล้านตารางเมตร ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่ไม่น้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียด้วยกันเอง อยู่ในลำดับที่จะเป็นผู้นำได้ด้วย
ส่วนโครงการใหม่ๆ ของสมาชิก เช่น เซ็นทรัล เวสต์เกท ที่บางใหญ่, โครงการไอคอนสยาม ริมแม่น้ำเจ้าพระยาของกลุ่มสยามพิวรรธน์, เซ็นทรัล เฟสติวัล อีสต์วิลล์, โครงการใหม่ของซีดีซี, โครงการใหม่ของสยามฟิวเจอร์, โครงการเอ็มควอเธียร์และโครงการเอ็มสเฟียร์ของกลุ่มเดอะมอลล์ โครงการสเปลของฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต, โครงการของซีคอนสแควร์ โครงการของแฟชั่นไอส์แลนด์ และโครงการของมาบุญครอง
สมาคมฯ มีความพยายามที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าช้อปปิ้งของเอเชียให้ได้ (Regional Shopping Hub) รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่สำคัญของอาเซียนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 ที่ตลาดจะเป็นหนึ่งเดียวมีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน โดยต้องการสร้างให้ค้าปลีกตั้งแต่ย่านปทุมวัน ราชประสงค์ เพลินจิต อโศก ถึงพร้อมพงษ์ เป็น “ช้อปปิ้ง ฮับ” ของเอเชียให้ได้ เหมือนในต่างประเทศ เช่น ฌองเอลิเซ ที่ฝรั่งเศส, ฟิฟท์อเวนิว ที่นิวยอร์ก, ชินจูกุ ที่ญี่ปุ่น, ย่านออร์ชาร์ด ที่สิงคโปร์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การที่จะก้าวไปถึงเป้าหมายนั้นได้จะต้องเกิดการร่วมมือกันกับทุกฝ่ายเพื่อยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางให้ได้ โดยปัจจุบันประเทศฮ่องกงและสิงคโปร์ไม่มีภาษีแล้ว ส่วนที่มาเลเซียก็เริ่มมีการทยอยลดภาษีมาหลายปีแล้ว ซึ่งตอนนี้เรายังไม่ได้เข้าไปพบหรือยื่นข้อเสนอให้กับทางฝ่ายปกครอง คงต้องรอการเก็บรวบรวมข้อมูและความพร้อมอีกครั้ง
“เราต้องการให้รัฐบาลช่วยลดภาษีนำเข้าแบรนด์เนมลงมาเป็นลำดับเพื่อทำให้สินค้าขายมีราคาไม่ต่างจากที่ประเทศอื่นเพื่อจูงใจให้คนต่างประเทศเข้ามาไทยมากขึ้นซึ่งเป็นเรื่องที่เราเรียกร้องและดำเนินการมานานแล้วแต่ก็ยังไม่เป็นผล ส่วนเรื่องอื่นๆ ของไทยไม่แพ้ต่างประเทศเลย เช่น การบริการ สถานที่ท่องเที่ยว อาหาร สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ แต่สิ่งที่เราแพ้เขาคือเรื่องอัตราภาษีนำเข้าแบรนด์เนม โดยเฉพาะถ้าลดภาษีได้ ตลาดใหญ่อย่างเช่น นิวเอเชีย ลักชัวรี หรือ New Asia Luxury จากจีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และรัสเซียจะเข้ามาช้อปปิ้งใช้จ่ายในไทยมากขึ้น”
นางสาววัลยา กล่าวด้วยว่า จากตัวเลขของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สิ้นสุด ณ เดือนธันวาคม 2556 ระบุว่า ประเทศไทยมีค่าจีดีพีจากการท่องเที่ยวประมาณ 1.17 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 10% ของจีดีพีประเทศ ซึ่งถ้าหากประเทศไทยสามารถลดภาษีแบรนด์เนมนำเข้าได้จะช่วยทำให้เพิ่มค่าจีดีพีจากการท่องเที่ยวอีก 2% หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี อีกทั้งถ้าหากทยอยลดภาษีนำเข้าลงจะยิ่งช่วยทำให้มีเงินสะพัดหมุนเวียนในไทย 6 หมื่นล้านบาทแทนที่จะต้องไปใช้จ่ายในต่างประเทศ