“เรกูเลเตอร์” ประสานสิบทิศทั้ง “คสช.” “กสทช.”กระตุ้นคนภาคใต้โดยเฉพาะ 14 จังหวัดช่วยลดการใช้ไฟรับมือ JDA หยุดจ่ายระหว่าง 13 มิ.ย.-10 ก.ค.นี้ เริ่มส่ง SMS ผ่านมือถือทุกเครือข่ายอัปเดตสถานการณ์ เริ่ม 12 มิ.ย. หวังทุกภาคส่วนร่วมมือลดใช้ไฟ 250 เมกะวัตต์ เลี่ยงแผนฉุกเฉินดับไฟบางพื้นที่
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รายงานแผนการรณรงค์ประหยัดไฟฟ้าภาคใต้เพื่อรองรับการหยุดซ่อมท่อก๊าซธรรมชาติแหล่งพัฒนาปิโตรเลียมพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ JDA ระหว่าง 13 มิ.ย.-10 ก.ค. ไปยังกระทรวงพลังงาน เพื่อให้ประสานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ช่วยรณรงค์ประชาชนภาคใต้ร่วมมือประหยัดไฟในช่วงดังกล่าว พร้อมกันนี้ยังได้ประสานไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการช่วยส่งข้อความหรือ SMS ผ่านระบบมือถือทุกเครือข่ายในพื้นที่ 14 จังหวัดเพื่อรายงานสถานการณ์การใช้ไฟในภาคใต้ให้รับทราบเพื่อขอความร่วมมือในการลดประหยัดไฟในช่วง 28 วันดังกล่าว
“SMS จะเริ่มส่งวันแรก 12 มิ.ย.นี้ให้กับคนในพื้นที่ภาคใต้ใน 14 จังหวัดที่มีการใช้ไฟสูงและจะทำการอัปเดตถึงการลดใช้ไฟฟ้าภาคใต้ในแต่ละวันช่วง 28 วันที่ก๊าซฯ หยุดจ่าย ซึ่งหากวันไหนมีการใช้ไฟค่อนข้างมากก็จะแจ้งขอความร่วมมือลดการใช้ไฟทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันป้องกันและลดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะเพื่อไม่ให้ต้องดับไฟในบางพื้นที่เลย” นายดิเรกกล่าว
สำหรับการลดใช้ไฟฟ้ามีเป้าหมายในส่วนของภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในภาคใต้ประมาณ 60 กว่าเมกะวัตต์ การซื้อไฟเพิ่มจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กหรือ VSPP อีกประมาณ 30 เมกะวัตต์ การประหยัดไฟจากภาคประชาชนประมาณ 100 เมกะวัตต์ การขอให้มีการเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากเอกชนเพิ่มเติมหรือสแตนด์บายเจนเพื่อป้อนเข้าระบบอีก 60 เมกะวัตต์ ส่วนนี้จะเป็นการเสริมความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้ายิ่งมากก็จะยิ่งปลอดภัยมากขึ้น
นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ช่วง JDA หยุดซ่อมจะอยู่ที่ 2,450 เมกะวัตต์แต่การผลิตอยู่ที่ 2,300 เมกะวัตต์ เมื่อ JDA หยุดจ่ายทำให้การผลิตจากโรงไฟฟ้าจะนะหายไป 700 เมกะวัตต์หรือเหลือกำลังผลิตเพียง 1,600 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกับดึงไฟจากส่วนกลางไปป้อน 700 เมกะวัตต์เสริมทำให้ไฟขาด 150 เมกะวัตต์ แต่เพื่อความปลอดภัยจึงต้องมีแผนลดใช้ไฟให้ได้เป้าหมาย 250 เมกะวัตต์จากทุกภาคส่วน
“ระบบส่งจากภาคกลางไปใต้เพื่อความปลอดภัยไม่ควรจะเกิน 700 เมกะวัตต์หากมีปัญหาก็อาจจะส่งได้มากกว่านั้น แต่ถ้าเกิน 950 เมกะวัตต์เมื่อใดจะประสานไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อเข้าสู่แผนฉุกเฉินการดับไฟบางพื้นที่ซึ่งวางไว้ 19 จุด พื้นที่ละ 50 เมกะวัตต์ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ดังนั้นครั้งนี้หากเลวร้ายจริงๆ อย่างไรก็คงไม่เกิดไฟดับเป็นวงกว้างเช่นที่ผ่านมาแน่เพราะเรามีระบบตัดไฟจากส่วนกลางเพื่อรักษาไฟในภาคใต้แล้ว” นายสุธนกล่าว
นายสุชาลี สุมามาลย์ รองผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ.ได้ประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้เพื่อรณรงค์ประชาชนร่วมประหยัดไฟ คือ “ปฏิบัติการ 3 หนึ่ง” 1 เครื่อง 1 องศา 1 ดวง คือปิดแอร์ 1 เครื่อง ปรับแอร์เพิ่มอุณหภูมิ 1 องศา และปิดไฟ 1 ดวง โดยเน้นช่วงเวลาพีกคือ 18.30-22.30 น.ในช่วง 28 วัน