เซ็นทรัลเตรียมจัดสงกรานต์ 10 แห่ง หวังดึงนักท่องเที่ยวเข้าศูนย์ฯ กลับสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น ล่าสุดทุ่มงบ 50 ล้านบาทเดินหน้าลุยดิจิตอลมาร์เกตติ้ง เปิดตัว CentralWorld Application เพิ่มความสะดวกให้ลูกค้า หวังช่วยกระตุ้นยอดขายเพิ่ม พร้อมต่อยอดการทำตลาดแบบรายบุคคลในอนาคต มั่นใจปีแรกมีผู้ใช้กว่า 30,000 ราย
ดร.ณัฐกิตต์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น เปิดเผยว่า จำนวนผู้เข้าใช้บริการภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ขณะนี้เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นแล้วตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา หรืออยู่ที่วันละ 1-1.2 แสนคนต่อวัน จากปกติจะอยู่ที่ 1.2-1.5 แสนคนต่อวัน โดยกลุ่มลูกค้าที่หายไปคือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ของประเทศไทย ดังนั้นขณะนี้ลูกค้าส่วนใหญ่จึงเป็นคนไทย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ทางบริษัทเตรียมจัดงานสงกรานต์ในศูนย์การค้ารวมกว่า 10 แห่งทั่วประเทศ มากกว่าปีก่อนที่จัดไป 5-6 แห่ง ภายใต้งบการตลาดจัดงานที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพื่อต้องการดึงฐานนักท่องเที่ยวกลับมา เน้นสาขาที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเป็นหลัก ได้แก่ เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลขอนแก่น, เซ็นทรัลอุดรธานี, เซ็นทรัลอุบลราชธานี, เซ็นทรัล พัทยา และเซ็นทรัล สุราษฎร์ธานี เป็นต้น มั่นใจว่าช่วงที่จัดกิจกรรมจะมีจำนวนผู้เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้น 20-30% หรือทำให้เซ็นทรัลเวิลด์กลับมามีจำนวนผู้เข้าใช้บริการที่ 1.5 แสนคนต่อวันอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หายไป
นอกจากนี้ ในช่วงซัมเมอร์จะมีการจัดกิจกรรมโปรโมชันส่งเสริมการขายมากยิ่งขึ้นเพื่อรักษาระดับผู้เข้าใช้บริการให้คงที่ ล่าสุดได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน “CentralWorld Application” เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกแก่ผู้เข้าใช้บริการในเซ็นทรัลเวิลด์ และสร้างโอกาสเพิ่มยอดขายให้แต่ละร้านค้ามากยิ่งขึ้น โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความสะดวกในเรื่องต่างๆ เช่น 1. อินดอร์ เนวิเกเตอร์ 2. ลิงก์ ทราฟฟิกภายนอกศูนย์ฯ 3. หาที่จอดรถภายในศูนย์ฯ 4. ข้อมูลโปรโมชันแต่ละร้านค้า เบื้องต้นรองรับ 2 ภาษา คือ ไทย และอังกฤษ และจะเพิ่มภาษาจีนเข้ามา และในอนาคตจะสามารถนำไปสู่การทำโปรโมชันแบบรายบุคคลได้ด้วย มั่นใจว่าในปีแรกจะมีผู้ใช้บริการกว่า 3 แสนคน
ดร.ณัฐกิตต์ กล่าวว่า CentralWORLD Application ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งชิ้นในการทำดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งของปีนี้ ภายใต้งบกว่า 50 ล้านบาท มากกว่าปีก่อนที่ใช้เพียง 30 ล้านบาท และปีต่อๆ ไปจะใช้เพิ่มมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่ซีพีเอ็นมีเครื่องมืออื่นๆ บ้างแล้ว เช่น ไวรัลมาร์เกตติ้ง, อินสตาแกรม และคิวอาร์โค้ด เป็นต้น ซึ่งคิวอาร์โค้ดถือเป็นเครื่องมือที่ได้รับความสนใจจากผู้ใช้บริการมากที่สุด จากภาพรวมงบการตลาด 700 ล้านบาทของปีนี้ เชื่อว่าถึงสิ้นปีบริษัทยังจะมีรายได้เติบโตที่ 15% ตามแผนที่วางไว้
อย่างไรก็ตาม สำหรับแอปพลิเคชันแบบ CentralWORLD Application นี้จะพัฒนาสู่สาขาอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้จะเปิดให้ใช้บริการเพิ่มอีกที่เซ็นทรัลลาดพร้าว และเซ็นทรัลพระราม 9 ส่วนปีหน้าจะรุกสู่สาขาในแหล่งท่องเที่ยว และภายในสิ้นปี 2558 จะเปิดให้ใช้บริการครบทุกศูนย์ฯ ขณะที่งบพัฒนาแอปพลิเคชันนี้อยู่ที่ 2-3 ล้านบาทต่อสาขา จากปัจจุบันมีทั้งหมด 24 สาขา แบ่งเป็น กทม.10 สาขา และต่างจังหวัด 14 สาขา ถึงสิ้นปีนี้คาดว่าจะมีจำนวน 25 สาขา