เรกูเลเตอร์จับมือ 3 การไฟฟ้านำร่องโครงการลดใช้ไฟฟ้าช่วงความต้องการสูงสุดหรือ Thailand Demand Response ทดสอบระบบนำร่องก๊าซพม่าหยุด 25 ธ.ค. 56-8 ม.ค. 57 ก่อนใช้รับมือใหญ่ เม.ย. 57 เตรียมพร้อมหารือ 17 ธ.ค.นี้เพื่อเปิดให้ผู้ใช้ไฟรายใหญ่เป้าหมาย 46 รายลงทะเบียนร่วมดำเนินการลดใช้ระหว่าง 25-27 ธ.ค.หวังลดใช้ไฟ 200 เมกะวัตต์ ลดค่า Ft 0.05 สตางค์ต่อหน่วย
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือเรกูเลเตอร์ เปิดเผยว่า เรกูเลเตอร์ร่วมกับ 3 การไฟฟ้าที่ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะดำเนินโครงการนำร่องลดความต้องการใช้ไฟฟ้าช่วงสูงสุด หรือ Thailand Demand Responseซึ่งเป็นการขอความร่วมมือจากผู้ใช้ไฟรายใหญ่ลดใช้ไฟช่วงความต้องการสูงสุดหรือพีก ในช่วงแหล่งก๊าซธรรมชาติเยตากุน ประเทศเมียนมาร์หยุดระหว่าง 25 ธ.ค. 56-8 ม.ค. 57 โดยจะมีการประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้ไฟรายใหญ่วันที่ 17 ธ.ค.นี้
“โครงการนำร่องฯ นี้มีเป้าหมายหลักเพื่อทดสอบความพร้อมที่จะนำกลไก Demand Response มาใช้บริหารจัดการในช่วงเวลาความต้องการไฟฟ้าสูงสุดวิกฤตในช่วงเดือนเมษายน และเดือนมิถุนายน 2557 ต่อไป ซึ่งแนวทางลดใช้ไฟก็เคยทำมาแล้วในช่วงก๊าซฯ หยุดจ่ายเมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมา 46 ราย โดยกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม อาคารธุรกิจ และห้างสรรพสินค้าที่เราจะเปิดให้ร่วมลงทะเบียนร่วมดำเนินการ” นายดิเรกกล่าว
นางพัลลภา เรืองรอง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า การดำเนินโครงการนำร่องฯ นี้มีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าประมาณ 200 เมกะวัตต์ระหว่างวันที่ 25-27 ธันวาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 13.00-20.00 น. เนื่องจากเป็นช่วง Peak Period ของระบบไฟฟ้าของประเทศ อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าหากสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 4.2 ล้านหน่วยตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะทำให้ประหยัดการใช้นำมันเตาได้ประมาณ 25.2 ล้านบาท ซึ่งหมายถึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือ Ft ในงวดถัดไปจะลดลงได้ประมาณ 0.05 สตางค์ต่อหน่วย
“การดำเนินการต่อไปเรกูเลเตอร์ จะพัฒนารูปแบบของโครงการ Demand Response ให้สามารถจูงใจผู้ใช้ไฟฟ้าให้ลดการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ด้วยการให้เงินชดเชยบางส่วนจากค่าFt ที่ประหยัดได้ เพื่อให้โครงการ Demand Response เป็นกลไกถาวรในการแก้ไขวิกฤต และลดต้นทุนค่าไฟฟ้า รวมทั้งชะลอการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ต่อไป” นางพัลลภากล่าว