xs
xsm
sm
md
lg

นำเข้าปลาแพนกาเชียสดอรีพุ่ง 132% CPF เล็งแหล่งผลิตใหม่พม่า-เขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ซีพีเอฟ” ได้ใจปลาแพนกาเซียสดอรี่ติดลม คนไทยนิยมทาน คาดปีนี้นำเข้าเพิ่ม 107% ส่วนปีหน้าพุ่งขึ้น 132% ตอบรับตลาด ชี้เวียดนามแหล่งผลิตใหญ่สุดของโลกจากที่ซีพีเอฟเข้าส่งเสริม เล็งหาแหล่งเพาะพันธ์เลี้ยงอีกที่ พม่าและกัมพูชา

นายพิสิฐ โอมพรนุวัฒน์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจการค้าต่างประเทศ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทได้ทำการตลาดปลาแพนกาเซียสดอรีในไทยมากว่า 5 ปี พบว่าได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างรวดเร็วในประเทศไทย ทำให้ซีพีเอฟมีการนำเข้าจากเวียดนามเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยคาดว่าปริมาณนำเข้าในปีนี้จะอยู่ที่ 2,800 ตัน เพิ่มขึ้น 107% จากปี 2555 และคาดว่าการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6,500 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 132% ในปี 2557

สำหรับประเทศไทยมีการนำเข้าปลาดอรีปีละประมาณ 12,000 ตัน โดยซีพีเอฟมีส่วนแบ่งการตลาดเพียงเค่ 1 ใน 4 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด ทั้งนี้ ซีพีเอฟนำเข้าปลาชนิดนี้ในลักษณะปลาแล่เช่แข็งและปลาแปรรูป โดยจัดจำหน่ายภายใต้ตราสินค้าซีพี ผ่านหลายช่องทาง เช่น ซีพี เฟรชมาร์ท, แม็คโคร, โมเดิร์นเทรด, 7-Eleven และร้านอาหารจานด่วน นำเข้าจากประเทศเวียดนามที่มาจากบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาที่บริษัท ซีพี เวียดนาม เข้าไปส่งเสริมการเลี้ยงและสนับสนุนเทคโนโลยีมาตรฐานสากลในฟาร์ม รวมถึงการลงทุนจัดตั้งโรงงานแปรรูปปลามาตรฐานไม่ไกลจากฟาร์ม ซึ่งปลาชนิดนี้มีโอกาสในการทำการตลาดสูงเพราะสามารถผลิตได้ทั้งปี ต่างจากปลาทะเลที่จับเป็นฤดูกาลและปริมาณไม่แน่นอน ที่สำคัญมีคุณค่าทางอาหารสูงและปลอดภัย

ปัจจุบันเวียดนามเป็นประเทศผู้เลี้ยงและผู้ส่งออกปลาแพนกาเซียสดอรีรายใหญ่ที่สุดโดยผลิตได้ 1.5 ล้านตัน และมีการส่งออก 650,000 ตันต่อปี มีตลาดส่งออกสำคัญ 9 ประเทศ คือ อเมริกา ยุโรป อาเซียน บราซิล เม็กซิโก จีน ซาอุดีอาระเบีย โคลอมเบียและไทย บริษัทฯ ยังมีแผนการจะเจาะตลาดญี่ปุ่นมากขึ้นหลังจากที่เปิดตัวสินค้าไปเมื่อต้นปีนี้ สำหรับ ซีพี เวียดนาม ดำเนินธุรกิจปลาแพนกาเซียสดอรีแบบครบวงจร เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพได้ทั้งห่วงโซ่การผลิตสู่การเป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัย ประกอบกับการส่งออกปลาชนิดดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณส่งออกในปี 2555 มีปริมาณ 4,000 ตัน มูลค่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐ, ปี 2556 คาดว่าปริมาณจะสูงขึ้นอยู่ที่ 9,000 ตัน เพิ่มขึ้น 125% มูลค่า 22 ล้านเหรียญสหรัฐ และตั้งเป้าส่งออกไว้ที่ 15,000 ตัน เพิ่มขึ้น 67% คิดเป็นมูลค่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีหน้า นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เข้าสำรวจพื้นที่การเลี้ยงที่เหมาะสมในประเทศอื่นด้วย เช่น พม่า และกัมพูชา แต่เวียดนามยังเป็นประเทศที่มีพื้นที่การเลี้ยงที่เหมาะสมที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น