“ศรีไทย” เร่งขับเคลื่อนและผลักดันการพัฒนาพลังงานทดแทน พร้อมสนับสนุนการจัดงานสัมมนา “CEO Energy Talk” ในงาน “Renewable Energy Asia 2013” หลังเพิ่ม Productivity ได้มากถึง 30% ขณะที่สามารถประหยัดพลังงานโดยรวมได้ถึง 50% เผยลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตจากที่เคยใช้เวลา 50 วินาทีต่อชิ้นเหลือเพียง 3.5 วินาทีต่อชิ้น
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานคณะกรรมการพลังงานหอการค้าไทย หนึ่งในผู้สนับสนุนการจัดงานแสดงเทคโนโลยีนานาชาติด้านพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน “Renewable Energy Asia 2013” ซึ่งจัดโดยบริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ณ ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา ในระหว่างวันที่ 5-8 มิ.ย.ศกนี้ เปิดเผยว่า กิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจภายในการจัดงานครั้งนี้คือการจัดสัมมนาในหัวข้อ “CEO Energy Talk” ซึ่งคณะกรรมการพลังงานหอการค้าไทยจะเน้นการให้ความรู้เชิงปฏิบัติการ พร้อมทั้งมีการเชิญ CEO ชั้นนำจากองค์กรต่างๆ มาให้ความรู้และแนวความคิดเรื่องพลังงานทดแทนในหัวข้อต่างๆ เช่น BIO Energy ที่เหมาะกับภาคชุมชนและภาคเกษตรกรรม รวมไปถึงพลังงานแสงอาทิตย์โซล่าร์เซลล์ที่เหมาะสมกับภาคอุตสาหกรรม
“การอนุรักษ์พลังงาน ถือเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการทั้งขนาดใหญ่ และ SMEs มีจิตสำนึกและตื่นตัวที่จะให้ความสำคัญพร้อมทั้งลงมือปฏิบัติ แต่เรื่องที่ต้องมีการขับเคลื่อนและผลักดันให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดคือเรื่องพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หอการค้าไทยจึงมีแนวคิดในเรื่องของการจัดตั้งสถานีพลังงานตามชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะชุมชนเกษตรกรรมซึ่งมีวัสดุเหลือใช้เป็นจำนวนมากที่สามารถนำมาปรับเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ ไม่ว่าจะเป็นข้าวเปลือก ฟางข้าว มันสำปะหลัง และอื่นๆ”
สำหรับแนวคิดในการผลักดันสถานีพลังงานให้เกิดขึ้นตามชุมชนต่างๆ จะดำเนินงานในลักษณะการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ รวมไปถึงมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งมีความพร้อมด้านบุคลากรและองค์ความรู้ในการแนะนำเทคโนโลยีและกรรมวิธีการนำวัสดุเหลือใช้มาพัฒนาเป็นพลังงาน
นอกจากนั้น หอการค้าไทยยังมีการจัดตั้งโครงการ “เพื่อนช่วยเพื่อน” โดยประสานงานกับองค์กรธุรกิจแขนงต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาพลังงาน เช่น SCG ในการส่งบุคลากรเข้ามาให้ความรู้และแนะนำเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของโซลาร์เซลล์ ซึ่งถือว่าขณะนี้ประเทศไทยมีความพร้อมแล้วที่จะทำให้เกิดผลโดยเร็ว เนื่องจากมีปัจจัยเสริมหลายด้านที่เอื้ออำนวย ทั้งในเรื่องของวัตถุดิบและมาตรการสนับสนุนต่างๆ จากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ
“การขับเคลื่อนและผลักดันเรื่องพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกให้ประสบความสำเร็จนั้น จำเป็นที่จะต้องทราบผลด้วยซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากเพื่อให้งานมีความต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนจึงควรทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง
โดยเฉพาะในเรื่องของสถานีพลังงานเราคาดหวังว่าเมื่อชุมชนใดประสบความสำเร็จแล้วจะต้องนำองค์ความรู้นั้นไปโชว์และแชร์ให้ชุมชนอื่นๆ นำไปเป็นแบบอย่างเพื่อพัฒนาต่อไป”
ปัจจุบันหอการค้าไทยมีสมาชิกจำนวน 26,449 บริษัทจาก 122 กลุ่ม และสมาคมธุรกิจ ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวคิดที่จะรวบรวมสมาชิกดังกล่าวเป็นกลุ่มธุรกิจ 10 กลุ่ม เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารประมง กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและแฟชั่น กลุ่มอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงกลุ่มธุรกิจลอจิสติกส์ เพื่อร่วมกันลดการใช้พลังงานภายในโรงงานให้เห็นผลโดยตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2556 โรงงานที่เข้าร่วมโครงการต้องมีการลดการใช้พลังงานไม่น้อยกว่า 10%
ผู้บริหารยุคใหม่ต้องปลุกจิตสำนึกให้บุคลากรในองค์กรตระหนักและตื่นตัวในเรื่องของการประหยัดพลังงาน นับตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น การปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าในขณะไม่ใช้งาน รวมไปถึงการหมั่นดูแลรักษาความเรียบร้อยของระบบเครื่องจักรภายในโรงงานให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน 100% ซึ่งถือเป็นวิธีประหยัดพลังงานง่ายๆ แต่ได้ผลจริงในองค์กรทุกระดับ ตั้งแต่ผู้ประกอบการรายย่อยไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่
“ในเรื่องการประหยัดพลังงานนั้น กระทรวงพลังงานมีการกำหนดมาตรฐานค่าดัชนีชี้วัดการใช้พลังงาน (Specific Energy Consumption : SEC) ในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก 5,258 เมกะจูนต่อตันสินค้า ซึ่งปรากฏว่าในปี 2552 ศรีไทยฯ สามารถทำได้ใกล้เคียงคือ 5,477 เมกะจูนต่อตันสินค้า แต่ในปี 2554 สามารถทำได้ต่ำกว่าคือ 4,537 เมกะจูนต่อตันสินค้า จนถึงขณะนี้ศรีไทยฯ สามารถเพิ่ม Productivity ได้มากถึง 30%
ขณะที่สามารถประหยัดพลังงานโดยรวมได้ถึง 50% จึงอยากเป็นตัวอย่างให้ผู้ประกอบการทุกขนาดและทุกประเภทมีโอกาสได้มาศึกษาเรื่องการประหยัดพลังงานที่โรงงานทั้งที่นิคมฯ อมตะนคร จ.ชลบุรี และ จ.นครราชสีมา”
ผู้บริหารองค์กรธรกิจสมัยใหม่ยังควรต้องปรับวิธีคิดและวิถีการบริหารงานเดิมๆ ยกตัวอย่างเช่น วันเวลาการเปิดดำเนินการซึ่งแทบทุกองค์กรธุรกิจมักเปิดในวันจันทร์-เสาร์ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่มีการคิดอัตราค่าใช้ไฟฟ้าในราคาสูง On Peak ตามอัตราค่าไฟฟ้า TOU (Time of Use Rate) ด้วยเหตุนี้ ศรีไทยฯ จึงมีการทดลองปรับวันทำการใหม่โดยเพิ่มวันอาทิตย์เป็นวันทำงานและปรับให้วันจันทร์เป็นวันหยุด
“หากคิดค่าประหยัดพลังงานเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว ผู้ประกอบการหลายรายอาจยังไม่ให้ความสนใจมากนัก เพราะมูลค่าน้อยมาก สู้ซื้อวัตถุดิบ หรืออย่างอื่นดีกว่า แต่ผลพลอยได้ที่จะตามมากลับมีมูลค่ามหาศาลมาก ทั้งเรื่อง 5 ส. รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ เพียงแต่ต้องลงมือทำอย่างจริงๆ จังเท่านั้น อย่างในกรณีของบริษัทฯ ซึ่งมีการปรับเวลาทำงานนั้นได้มีการแบ่งสัดส่วนค่าไฟฟ้าที่ลดลงโดยนำเข้าบริษัท 60% ส่วนที่เหลือ 40% นำไปแบ่งเป็นรายได้เสริมให้พนักงานทุกคน ทำให้เป็นแรงจูงใจในการทำงานของพนักงานได้มากขึ้นด้วย”
นายสนั่นกล่าวเสริมด้วยว่า หลังจากที่เริ่มต้นประหยัดพลังงานภายในองค์กรแล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ควรลงมือทำคือการลงทุนเปลี่ยนเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดเวลาการทำงาน และทดแทนการใช้แรงงาน ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว แต่ควรต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการตลาดและสามารถทำยอดขายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยผู้ประกอบการสามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้จากการจัดงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีต่างๆ เช่นเดียวกับงาน “Renewable Energy Asia 2013” ที่กำลังจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้
“ในส่วนของศรีไทยฯ นั้นมีการลงทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้บริษัทเคยผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็กสำหรับรถจักรยานยนต์ แต่เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่สองของปีได้ตัดสินใจเลิกสายการผลิต แล้วหันมาผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม เพราะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้สูงมากจากที่ต้องใช้เวลาในการผลิต 50 วินาทีต่อชิ้น แต่ปัจจุบันสามารถใช้เวลาในการผลิตเพียง 3.5 วินาทีต่อชิ้น”
ทั้งนี้ ในปี 2556 บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้าหมายลดการใช้พลังงานไม่น้อยกว่า 10% ขณะเดียวกันยังจะดำเนินการอนุรักษ์พลังงานเพื่อลดค่าดัชนีชี้วัดการใช้พลังงาน (Specific Energy Consumption : SEC) ลดลง 5% เมื่อเทียบกับปี 2555 ทั้งในส่วนของโรงงานบรรจุภัณฑ์อุตสาหกรรม โรงงานบรรจุภัณฑ์อาหาร และโรงงานผลิตกระดาษฟอยล์