ลงทุนเหล็กต้นน้ำในไทยส่อแวว! ค้างเติ่งยาวไปอีกไม่น้อยกว่า 2 ปี หลังเศรษฐกิจโลกทรุดส่งผลให้ 4 รายชะลอการเร่งรัดการลงทุน จับตานิคมฯ เหล็กในทวายเป็นทางเลือกแหล่งลงทุนในอนาคตหากไทยไม่มีพื้นที่
แหล่งข่าวจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การลงทุนโครงการเหล็กต้นน้ำในไทยล่าสุดผู้ที่สนใจ 4 ราย ได้แก่ บริษัท นิปปอน สตีล คอร์ปอเรชั่น, บริษัท เจเอฟอี สตีล คอร์ปอเรชั่น, บริษัท บาวสตีล และ บริษัทอาร์เซลอร์ มิททาล ไม่ได้มีการเร่งรัดการหาพื้นที่การก่อสร้างโครงการเหล็กแต่อย่างใด เนื่องจากมองว่าภาวะเศรษฐกิจโลกอีก 2 ปีจากนี้ไปยังไม่เอื้อต่อการลงทุน
“วันนี้ภาวะเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปทำให้การลงทุนเหล็กต้นน้ำที่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ระดับแสนล้านบาทจะต้องคิดหนักเพราะเศรษฐกิจโลกภาพรวมชะลอตัวมาก กำลังการผลิตเหล็กของโลกโดยเฉพาะจากจีนมีเกินความต้องการ โดยจีนมีการผลิตปีละ 1,200 ล้านตันแต่การใช้มีเพียง 500 ล้านตัน ที่เหลือเป็นการส่งออกทั้งหมด ซึ่งการลงทุนเหล็กต้นน้ำในไทยยังมีโอกาสจะเกิดขึ้นแต่คงไม่ใช่ในช่วง 2 ปีจากนี้เพราะส่วนหนึ่งจะต้องเน้นป้อนตลาดส่งออก” แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ในการลงทุนเหล็กต้นน้ำในนิคมอุตสาหกรรมทวายที่พม่า เป็นอีกที่หนึ่งที่นักลงทุนจับตามองแต่ก็เป็นแผนระยะยาว ซึ่งการลงทุนจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีการให้สิทธิพิเศษกว่าปกติในการจูงใจซึ่งหากนิคมฯ เหล็กเกิดขึ้นได้ที่ทวาย โรงไฟฟ้า ก็จะเกิดขึ้นได้และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ก็จะไปพร้อมๆ กันหลังจากนั้นอุตสาหกรรมต่อเนื่องก็จะเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้หลายฝ่ายก็กำลังศึกษาแนวทางการพัฒนาอยู่เนื่องจากพม่าเองมีวัตถุดิบแร่ และถ่านหิน หรือก็สามารถนำเข้ามาจากออสเตรเลียที่เป็นแหล่งผลิตใหญ่ก็ไม่ไกล และสามารถส่งป้อนไทยในระยะแรกได้
“มิติการแข่งขันในอนาคต ญี่ปุ่นยังต้องการผลิตเหล็กต้นน้ำอีกแห่งในภูมิภาคอาเซียน แต่แหล่งใช้ใหญ่ยังเป็นไทยอยู่แต่หากไทยตั้งไม่ได้ ทวาย และกัมพูชา ก็มีโอกาสก็อยู่ที่ว่าเขาจะมาลงทุนไหม ปีที่ผ่านมาก็มีการประกาศลงทุนเหล็กขนาดกลางในไทยหลายรายเพื่อทดแทนการนำเข้าทั้งหมดและป้อนอุตสาหกรรมรถยนต์” แหล่งข่าวกล่าว