ผู้ประกอบการขนส่งเมินแผนขยายลงทุนเพิ่มปั๊มเอ็นจีวี ปตท.ยันถ้าไม่ได้ 725 แห่งไม่ต้องมาคุยเรื่องปรับราคาขึ้น ด้าน ปตท.สวนกลับตัวเลขนี้จะได้ก็ต้องขึ้นราคาด้วย
นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เผยว่า ปี 2556 นี้ บมจ.ปตท.ยังไม่ควรที่จะปรับราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) เนื่องจากแม้ล่าสุดจะได้ประกาศแผนการขยายการลงทุนเพิ่มสถานีบริการ แต่ข้อเท็จจริง คือ ปตท.จะเพิ่มอีกเพียง 9 แห่งในปีนี้จากปัจจุบันมีทั้งสิ้น 483 แห่ง ซึ่งถือว่าไม่ได้ทำตามสัญญาเดิมที่ระบุไว้ว่าจะขยายปั๊มให้ได้ 725 แห่งตั้งแต่ปลายปี 2555
“เราได้มีข้อตกลงกันไว้ว่าในปี 2555 ตามแผนการส่งเสริมการใช้ก๊าซเอ็นจีวีซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะไปทำให้ลดการใช้พลังงานที่รัฐบาลมีเป้าหมายจะลดการใช้ลง 20% โดยจะมีรถเอ็นจีวี 3.28 แสนคันและมีปั๊มบริการ 725 แห่งเป้าหมายอื่นก็ทำได้หมดเว้นปั๊มที่เหมือน ปตท.หลอกเรา ดังนั้นถ้าเพิ่มปั๊มได้เมื่อใดค่อยมาว่ากันเรื่องราคา” นายยูกล่าว
นอกจากนี้ ก่อนหน้ายังได้เคยตกลงที่จะให้ ปตท.เร่งปรับคุณภาพก๊าซเอ็นจีวีให้ดีขึ้นด้วยการลดการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ซึ่งเดิม ปตท.มีการเติมจำนวนมากทำให้เครื่องยนต์มีปัญหาเนื่องจากก๊าซฯ มีลมค่อนข้างสูง ดังนั้น หากกติกาเหล่านี้ ปตท.ยังคงเมินเฉยที่จะดำเนินการก็ยากที่ผู้ประกอบการขนส่งภาพรวมจะยอมให้ปรับราคาเพิ่มขึ้นได้
แหล่งข่าวจาก บมจ.ปตท.กล่าวว่า จำนวนปั๊มเอ็นจีวี 725 แห่งที่ผ่านมาเองก็มีเงื่อนไขที่รัฐจะต้องทยอยปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงด้วย โดยที่ผ่านมาราคาเอ็นจีวีถูกตรึงที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) และต่อมาได้ทยอยปรับขึ้นมาอยู่ที่ 10.50 บาทต่อ กก. และหลังจากนั้นก็ตรึงราคาในระดับดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่ราคาเอ็นจีวีที่แท้จริงควรปรับไปที่ 15.50 บาทต่อ กก. ซึ่งล่าสุด ปตท.ได้ส่งแผนการลงทุนขยายปั๊มเอ็นจีวีไปยังนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงานแล้ว ทั้งนี้ แผนดังกล่าว ปตท.เตรียมที่จะลงทุนเพิ่มอีก 5,000 ล้านบาท ทั้งแก้ปัญหาคิวรถที่รถที่รอนาน และจำนวนปั๊มให้เพียงพอ
“เราต้องยอมรับความจริงว่าการขยายตัวของการใช้เอ็นจีวีที่เพิ่มขึ้นในรถยนต์โดยเฉพาะนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐนั้นเข้ามาแชร์รถเอ็นจีวีมากขึ้นเรื่อยๆ และแนวโน้มจะสูงขึ้น โดยจะเห็นว่าตามอู่ติดตั้งเอ็นจีวีพบว่ารถป้ายแดงที่ส่วนใหญ่เป็นรถประหยัดพลังงานตามมาตรฐานสากล หรืออีโคคาร์ หันมาติดเอ็นจีวีเยอะมาก ซึ่งการใช้ที่เพิ่มยิ่งทำให้ ปตท.แบกภาระขาดทุนเพิ่ม หากไม่ปรับราคาให้ภายในปี 57 ปตท.อาจแบกภาระเป็น 1 แสนล้านบาท ถึงตอนนั้นการขยายปั๊มก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้” แหล่งข่าวจาก บมจ.ปตท.กล่าว