กนอ.เตรียมเปิดทางให้เอกชนเสนอร่วมผุดนิคมฯ ใหม่ 12 แห่งพื้นที่ 1.8 หมื่นไร่ โดยเฉพาะ 8 จว.ภาคอีสาน สนองนโยบายรัฐบาลหาพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมเชื่อมการค้า-ลงทุน AEC คาดใช้เงินพัฒนา 2.7 หมื่นล้านบาทหวังดึงลงทุนเข้าไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท
นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีที่ไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC รัฐบาลได้มียุทธศาสตร์ในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต่างๆ ที่จะรองรับการค้าและการลงทุน ดังนั้น ล่าสุดคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) จึงได้เห็นชอบการโครงการเพื่อเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมตามนโยบายรัฐโดยกนอ.จะเปิดให้เอกชนเสนอการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 12แห่งรวมพื้นที่ 1.8 หมื่นไร่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนพัฒนาประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนภายในนิคมฯดังกล่าวไม่น้อยกว่า 5.17 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 2.1 แสนคน
“ขณะนี้ไทยมีนิคมฯ 47 แห่ง มีพื้นที่รองรับนิคมฯ 5 หมื่นกว่าไร่ แต่ขณะนี้ที่เหลือในการรองรับการพัฒนาเหลือไม่มากจึงต้องเร่งพัฒนาใหม่ให้เพียงพอต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น” นายประเสริฐกล่าว
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานบอร์ดกนอ.กล่าวว่า บอร์ดกนอ.เมื่อ 28 ก.พ.ได้เห็นชอบโครงการเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมซึ่งมี 3 แนวทางดังนี้ 1. โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี 3 แห่งได้แก่ ภาคเหนือ 1 แห่ง กลาง 1 แห่ง และอีสาน 1 แห่ง 2. โครงการจัดตั้งนิคมฯ บริการด้านลอจิสติกส์ อ.เชียงของ จ.เชียงราย และ 3.โครงการจัดตั้งนิคมฯจังหวัดเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตก (EWEC) ซึ่งจะมี 8 จังหวัดได้แก่ จ.นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรราชธานี มุกดาหาร สกลนคร นครพนม และหนองคาย
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าฯ กนอ.กล่าวว่า ภายในกลางเดือน มี.ค.นี้จะประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาเสนอพื้นที่ในการพัฒนาโครงการจัดตั้งนิคมฯ ทั้ง 12 แห่งโดยคาดหวังว่าจะเห็นการเสนอพื้นที่ได้ทั้งหมดภายในปี 2556 ซึ่งการร่วมลงทุน กนอ.จะให้เอกชนดำเนินการเป็นหลัก กนอ.จะถือหุ้นใน 2 รูปแบบแล้วแต่การเจรจา คือ การถือหุ้นเชิงสัญลักษณ์จะถือเพียง 5-10%
และการเข้าไปร่วมบริหารจะถือประมาณ 25%
“เราคงจะเจรจารายต่อรายไป ส่วนมาตรการจูงใจ เช่น สนับสนุนการก่อสร้างศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (OSS) วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท สนับสนุนการประชาสัมพันธ์โครงการทั้งในและต่างประเทศ เว้นค่ากำกับบริการ 2 ปีโดยให้ชำระค่ากำกับบริการในปีที่ 5 และยังได้สิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ตามเขตลงทุน เป็นต้น” นายวีรพงศ์กล่าว
นอกจากนี้ บอร์ด กนอ.ยังเห็นชอบแนวทางจัดตั้งหน่วยธุรกิจเพื่อลงทุนต่างประเทศ (Business Unit) ในรูปแบบของ บ.โฮลดิ้ง เพื่อไปลงทุนด้านการพัฒนาพื้นที่นิคมฯที่ต่างประเทศซึ่งมีเป้าหมายเบื้องต้น 4 พื้นที่ได้แก่ นิคมฯ คุนหมิง และหนานหนิงที่จีน นิคมฯ ทวายและพื้นที่เขตเศรษฐกิจที่ติละวา ที่พม่า