xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งคณะทำงานศึกษาหลังสัญญาสัมปทานฯ สิ้นสุดปี 65 หวั่นกำลังผลิตก๊าซฯ ในอ่าวไทยวูบ 2 พันล้าน ลบ.ฟ./วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
กรมเชื้อเพลิงตั้งคณะทำงานพิจารณากรอบการดำเนินงานหลังสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมไม่สามารถต่ออายุได้อีกตามกฎหมาย ส่งผลให้สัญญาสัมปทานของเชฟรอนฯ และ ปตท.สผ. 2 สัญญาจะสิ้นสุดลงในปี 65 ซึ่งจะมีผลทำให้ปริมาณก๊าซฯ หายไป 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 6 เดือนข้างหน้า

นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการปิโตรเลียมได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อมาพิจารณากรอบดำเนินงานหลังจากสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมฉบับต้นๆ ของประเทศไม่สามารถต่ออายุได้อีกตามกฎหมาย เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ต่ออายุสัญญาไปแล้ว 1 ครั้งเป็นเวลา 10 ปี โดยสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในปี 2565 ได้แก่ สัญญาของบริษัท เชฟรอนฯ มีกำลังการผลิตก๊าซฯ 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุต และสัญญาของแหล่งบงกชที่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ ได้แก่ แหล่งบงกช 630 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แหล่งบงกชใต้ 320 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

โดยคณะทำงานประกอบไปด้วย อดีตอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นายนพดล มัณทจิต นายคุรุจิต นาครทรรพ นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา และตน โดยจะเร่งหาข้อสรุปให้ได้ภายใน 6 เดือนข้างหน้านี้ ขณะเดียวกันก็ให้ผู้ผลิตไปดูข้อมูลทั่วโลกว่ากรอบการดำเนินการของประเทศต่างๆ ได้ทำในรูปแบบไหนเพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งอาจจะต้องแก้ไข พ.ร.บ.ปัจจุบัน หรืออาจใช้รูปแบบอื่นมาดำเนินการ

ทั้งนี้ ทางกระทรวงพลังงานเป็นห่วงว่าช่วง 5 ปีท้ายของสัญญาผู้ผลิตจะไม่มีการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งจะกระทบต่อการผลิตก๊าซในประเทศไทย ทำให้การผลิตลดลงท่ามกลางความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านพลังงาน โดยทั้ง 2 สัมปทานนี้คิดเป็นประมาณก๊าซฯ ถึง 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือครึ่งหนึ่งของความต้องการใช้ก๊าซฯ ในปัจจุบันที่ไทยมีการใช้ก๊าซฯ ในอ่าวไทยและแหล่งเจดีเออยู่ 4,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และพม่าอีก 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยประเมินว่าหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานปริมาณสำรองก๊าซฯ ในอ่าวไทยจะมีอยู่ 4-6 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต

ปัจจุบันนี้การผลิตก๊าซจากอ่าวไทยถือได้ว่าเป็นระดับอัตราสูงสุดแล้วที่ประมาณ 2,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และหากไม่มีการลงทุนเพิ่ม การผลิตจะคงที่ไปอีก 5 ปี หลังจากนั้นการผลิตจะลดลง ซึ่งจะกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าและธุรกิจปิโตรเคมีที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศสูงเกือบ 7 แสนล้านบาทต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น