xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” พบ 15 กรณีโกงจำนำข้าว และโกงมันสำปะหลัง 3 กรณี ลั่นฟันไม่เลี้ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พาณิชย์” ตรวจพบ 15 กรณีตุกติกจำนำข้าว มีตั้งแต่บกพร่องเรื่องเอกสาร ไม่ปิดป้ายราคา ข้าวหาย สวมสิทธิเกษตรกร ส่วนแทรกแซงมันสำปะหลัง เจอโกง 3 กรณี “บุญทรง” ลั่นฟันไม่เลี้ยงหากพบผิดจริง

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มีการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2554/55 พบว่ามีถึง 15 กรณีที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับโครงการรับจำนำ ซึ่งได้มีการส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว โดยยืนยันว่าหากมีการตรวจสอบพบการทุจริตไม่ว่ากรณีใดๆ จะไม่มีการละเว้น และจัดการขั้นเด็ดขาด โดยการทุจริตที่มีการตรวจสอบพบมีดังนี้

1. จังหวัดกาญจนบุรี มีการสวมสิทธิเกษตรกร โดยเกษตรกรและตัวการได้ยอมรับผิด ขณะนี้อยู่ระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ขยายผลเอาผิดตามกฎหมาย

2. จังหวัดนครนายกมีการสวมสิทธิเกษตรกร ซึ่งกรมการค้าภายในได้ส่งให้ DSI ดำเนินคดีต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.อ.องครักษ์แล้ว

3. จังหวัดกาฬสินธุ์ และสกลนคร มีการสวมสิทธิเกษตรกร โดยแจ้งความร้องทุกข์ ณ สถานีตำรวจ และส่งให้ DSI ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายแล้ว

4. จังหวัดกำแพงเพชรมีการสวมสิทธิเกษตรกรของท่าข้าว โดยท่าข้าวนำข้าวเปลือกของตนรวมกับข้าวเปลือกของเกษตรกร และนำไปใช้สิทธิเข้าร่วมโครงการ ซึ่งได้แจ้งความให้ดำเนินคดีอย่างถึงที่สุดแล้ว

5. จังหวัดสุพรรณบุรีมีการร้องเรียนกรณีสวมสิทธิเกษตรกร โดยผู้นำชุมชน โรงสี และเกษตรกรได้มีการร่วมมือกันเป็นขบวนการในการใช้สิทธิเข้าร่วมโครงการรับจำนำ อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

6. จังหวัดอุดรธานีมีการหักสิ่งเจือปนในปริมาณที่สูงผิดปกติ ซึ่งกรมการค้าภายในได้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 จังหวัดอุดรธานี เพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและให้ความเป็นธรรมแก่เกษตรกร

7. จังหวัดบุรีรัมย์ ท่าข้าวมีปริมาณข้าวขาดบัญชี และเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ โดยส่งเรื่องให้จังหวัด ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดีต่อท่าข้าวและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งจังหวัดได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเพื่อดำเนินการต่อไป

8. จังหวัดพิษณุโลก และนครสวรรค์ โรงสีมีข้าวขาดบัญชี ได้แจ้งข้อกล่าวหา และลงบันทึกประจำวัน โดยได้ส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแล้ว

9. จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ เพชรบุรี และสิงห์บุรี มีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 ได้ดำเนินคดีตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว

10. จังหวัดเพชรบูรณ์ตรวจพบข้อบกพร่องการขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ไม่มีเอกสารเช่าที่ดิน) อยู่ระหว่างดำเนินการส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ

11. จังหวัดปราจีนบุรี มีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.ค้าข้าว พ.ศ. 2489 โดยได้ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดี

12. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีการกระทำผิดในข้อหาไม่ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อสินค้าเกษตร ซึ่งได้ดำเนินการจับกุมและเปรียบเทียบปรับตามกฎหมาย

13. จังหวัดพัทลุง มีพฤติกรรมการสวมสิทธิเกษตรกร โดยนายหน้าจะเข้าไปรับซื้อใบรับรองเกษตรกรที่ปลูกพันธุ์ข้าวส่งจำหน่ายให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว โดยให้ราคา 500 บาท/ตัน ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามสอบสวนในเชิงลึก

14. จังหวัดนครศรีธรรมราชมีการปฏิเสธการรับจำนำ เนื่องจากโรงสีในพื้นที่มีขนาดเล็ก และมีพื้นที่ในการจัดเก็บจำกัด ทำให้เกษตรกรเสียสิทธิในการนำข้าวเข้าร่วมโครงการ และต้องนำผลผลิตไปจำหน่ายในราคาท้องตลาด ซึ่งต่ำกว่าราคารับจำนำมาก ได้ส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแล้ว

15. การฉ้อโกงเกษตรกร กรณีแรกโรงสีในจังหวัดเพชรบูรณ์ได้รับฝากข้าวของเกษตรกร จำนวน 1,144 ราย ปริมาณข้าวเปลือกรวม 7,619 ตัน (ข้าวเปลือกเจ้า 3,903 ตัน และข้าวเปลือกหอมจังหวัด 3,716 ตัน) ก่อนสมัครเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวนาปรัง ปี 2555 และผิดนัดชำระเงินแล้วจำนวน 2 ครั้ง ซึ่งอนุกรรมการระดับจังหวัดได้พิจารณาและเห็นว่าการรับฝากข้าวเป็นการดำเนินการก่อนเข้าร่วมโครงการ จึงขอให้โรงสีชำระเงินให้เกษตรกรให้แล้วเสร็จ มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นการฉ้อโกงเกษตรกร และกรณีที่สอง โรงสีในจังหวัดนครราชสีมาอ้างว่าเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ทำให้เกษตรกร 23 รายเข้าใจผิดและนำข้าวเปลือกไปใช้สิทธิเข้าร่วมโครงการ โดยโรงสีตกลงจะชำระให้หลังจากใช้สิทธิ 1 เดือนต่อมา เมื่อครบกำหนดชำระเงิน โรงสีได้ผิดนัด ทำให้เกษตรกรทั้ง 23 รายยังไม่ได้รับการชำระเงิน มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,148,819 บาท

ส่วนโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี 2554/55 พบ 3 กรณีที่เข้าข่ายมีการทุจริต ได้แก่

1. จังหวัดนครราชสีมา และบุรีรัมย์ มีเกษตรกรจำนวน 81 รายได้ยื่นร้องเรียนลานมันในจังหวัดนครราชสีมา ที่ไม่ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากยังไม่ได้รับใบประทวนสินค้ามูลค่า 13 ล้านบาท ตามโครงการ ซึ่งอนุกรรมการระดับจังหวัดได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ามีผู้ร่วมดำเนินการ 5 ราย และตำรวจได้ดำเนินการจับกุมในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงแล้วจำนวน 2 ราย และอีก 3 รายหลบหนี

2. จังหวัดชัยภูมิ พบว่าปริมาณมันสำปะหลังตามโครงการขาดหาย และลานมันไม่ส่งมอบมันเส้นเข้าคลังกลางตามกำหนด ทำให้ อคส.ระงับการรับฝากมันสำปะหลัง และออกใบประทวน เกษตรกรจำนวน 24 ราย ปริมาณรวม 528.34 ตัน ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการระดับจังหวัดอยู่ระหว่างการสอบข้อเท็จจริงว่ามีการนำผลผลิตไปเข้าร่วมโครงการจริงหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบว่ามีเกษตรกรส่งมอบผลผลิตให้แก่ลานมันในช่วงที่มีการระงับการออกใบประทวนหรือไม่

3. จังหวัดสระแก้ว มีเกษตรกรร้องเรียนว่ามีการสวมสิทธิและทุจริตรับเงินตามโครงการอย่างเป็นระบบ ซึ่งจากการสอบสวนให้ผลเชิงลึก โดยมีเกษตรกรอย่างน้อย 4 รายได้ยอมรับว่ามีนายหน้าเข้ามาชักชวนให้เข้าร่วมขบวนการสวมสิทธิ ซึ่งถือเป็นการฉ้อโกงรัฐ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนในทางลับเพื่อขยายผลเอาผิดทางกฎหมายต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น