xs
xsm
sm
md
lg

“ปิยสวัสดิ์” ฟ้องศาลแรงงานถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม สุดทนคำสั่งห้ามใช้ห้องพบพนักงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์
“ปิยสวัสดิ์” เตรียมยื่นฟ้องศาลแรงงานเหตุถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 21 มิ.ย.นี้ ขณะที่ต้องเปลี่ยนไปส่งอีเมลถึงพนักงานการบินไทย 2.5 หมื่นคนเปิดใจก่อนพ้นตำแหน่งวันสุดท้ายแทน หลังมีคำสั่งงดเลี้ยงอำลาและห้ามใช้ออดิทอเรียมกะทันหัน เผยวิธีปิดปากแบบนี้สุดแย่ ยันทำหน้าที่ DD บริหารจนผลประกอบการเริ่มดี ชี้พนักงานดีและเก่งมีมากแต่ห่วงธรรมาภิบาลในการบริหารงาน ซึ่งการบินไทยกำลังกลับสู่ยุควิ่งเต้นหวังตำแหน่ง เหตุบอร์ดเริ่มล้วงลูกแต่งตั้งโยกย้ายพนักงาน

รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555 นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัทการบินไทย ได้ส่งสารถึงพนักงานการบินไทยกว่า 25,000 คนทางอีเมลก่อนจะพ้นวาระในวันดังกล่าวแทน หลังจากที่ได้มีคำสั่งล้มเลิกการชี้แจงต่อพนักงานการบินไทยที่กำหนดจะมีขึ้นในช่วงบ่าย

โดยนายปิยสวัสดิ์เปิดเผยว่า ตั้งใจจะพูดคุยกับพนักงานเพื่อชี้แจงและตอบข้อสงสัยต่างๆ หลังจากคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทมีมติเลิกจ้างตนเองตั้งแต่เดือนพฤษภาคมแล้ว แต่มีการประสานให้เลื่อนมาเป็นวันสุดท้ายแทนคือวันที่ 20 มิถุนายน ซึ่งก็ยอมเลื่อนให้ โดยกำหนดว่าช่วงเที่ยงจะมีการเลี้ยงกันแบบง่ายโดยไม่ใช้งบของบริษัทแต่อย่างใด และช่วง 14.00 น. จะพบกับพนักงานที่ห้องออดิทอเรียม แต่สุดท้ายก็มีอะไรบางอย่างมาสั่งยกเลิกกะทันหันไม่ให้ใช้ห้องออดิทอเรียม ทำให้ต้องใช้ห้องโถงอาคาร 1 ในการพบปะพนักงานแทน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่แย่มากที่ห้ามใช้ห้องออดิทอเรียม

นายปิยสวัสดิ์กล่าวว่า ในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ เวลา 08.30 น. จะไปยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลางกรณีถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมและไม่มีเหตุผล ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมหลังจากที่นายอำพน กิตติอำพน ประธานบอร์ดการบินไทยไม่ชี้แจงเหตุผลคำสั่งเลิกจ้างดังกล่าวได้

สำหรับสารที่นายปิยสวัสดิ์ส่งถึงพนักงานนั้นระบุว่า หลังจากที่มารับตำแหน่ง DD เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน 2 วัน ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่มีความสุขและรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานกับพนักงานการบินไทยเก่งๆ และที่เป็นคนดีจำนวนมาก แม้ว่าจะเหน็ดเหนื่อยพอสมควรแต่ก็รู้สึกภูมิใจที่ได้บริหารงานให้การบินไทยกลับมามีผลประกอบการที่ดี มีการบริหารแบบธรรมาภิบาล และที่สำคัญคือ พนักงานการบินไทยได้ให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย มั่นใจจากรากฐานที่ได้สร้างไว้ทำให้กำไรปีนี้สามารถได้ตามเป้า 6,000 ล้านบาท แต่เป็นห่วงเรื่องการแทรกแซงการบริหารงานจากคณะกรรมการบริษัทเช่นในอดีต

ทั้งนี้ เป้าหมายกำไรสำหรับปี 2555 ที่ตั้งไว้ที่ 6,000 ล้านบาทน่าจะทำได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันลดลงสู่ระดับที่ต่ำกว่าต้นปีถึง 20-25 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งหากราคาน้ำมันอยู่ในระดับปัจจุบันจนถึงสิ้นปีจะสามารถประหยัดค่าน้ำมันได้กว่าเดือนละ 800 ล้านบาทและโดยเฉลี่ยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2555 เป็นต้นไปเทียบกับในช่วงต้นปี ฉะนั้นถ้าบริหารจัดการให้ดีน่าจะมีกำไรก่อนอัตราแลกเปลี่ยน 6,000 ล้านบาท โดยยังสามารถจ่ายโบนัสพนักงานได้ 3 เดือน

ซึ่งผลประกอบการไตรมาสแรก (Q1/55) ที่ประกาศออกมาแล้ว การบินไทยมีกำไร 3,645 ล้านบาท (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกำไรจากการดำเนินการ) และผลประกอบการเดือนเมษายน 2555 ก็ถือว่าอยู่ในระดับดีภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ยากลำบากอย่างยิ่งในการทำธุรกิจ ในขณะที่สายการบินชั้นนำหลายแห่งประสบภาวะขาดทุนในไตรมาสแรกของปี 2555 เช่น สิงคโปร์แอร์ไลน์ โคเรียนแอร์ ลุฟท์ฮันซ่า เป็นต้น และแม้แต่สายการบินในประเทศจีนที่กำไรดีมาตลอดก็มีกำไรลดลงมาก และน้อยกว่าการบินไทยเสียอีก

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่การบินไทยกลับมามีกำไรในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้คือ มาตรการลดค่าใช้จ่ายทุกด้านที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยและคุณภาพบริการ ในขณะเดียวกันก็ยังมีปัจจัยบวกอื่นๆ เช่น จำนวนผู้โดยสารก็เพิ่มขึ้นมาก ดังจะเห็นได้ว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9.4 เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราการขนส่งผู้โดยสาร หรือ Cabin Factor อยู่ในระดับเฉลี่ยร้อยละ 78.3 ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ และสูงถึง 71.7%. ในเดือนพฤษภาคม 2555 ซึ่งปกติคือเดือนที่แย่ที่สุดของปี ส่วนในช่วง 17 วันแรกของเดือนมิถุนายนปีนี้จำนวนผู้โดยสารก็เพิ่มขึ้นถึง 20.3% เทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จึงมั่นใจว่าในแง่จำนวนผู้โดยสารและ Cabin Factor แล้ว ไตรมาสสองของปีนี้จะเป็นไตรมาสสองที่ดีที่สุดในรอบ 5 ปี ทั้งๆ ที่การแข่งขันสูงมากและเศรษฐกิจยุโรปค่อนข้างซบเซา

ผมว่าเป็นช่วงเวลาที่ทุกอย่างในบริษัทฯ กำลังเดินไปได้ดีทีเดียว ฐานะการเงินของบริษัทมีความแข็งแกร่งขึ้นมามาก จากผลประกอบการของบริษัทที่ขาดทุนกว่า 21,000 ล้านบาทในปี 2551 และในรอบ 9 เดือนของปีบัญชี 2552 ขาดทุนต่อเนื่องอีก 1,569 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้บริษัทจากที่มีหนี้สินต่อทุนสูงถึง 3 เท่ากว่า จนขณะนี้บริษัทมีหนี้สินต่อทุนเหลือเพียง 2 เท่า ซึ่งเป็นผลมาจากผลประกอบการที่ค่อนข้างดี การเพิ่มทุนในปี 2553 และการจัดหาเงินกู้อย่างเพียงพอในเงื่อนไขที่ต้องถือว่าดีมาก แม้ว่าในปี 2554 บริษัทจะขาดทุน ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 40 จากปี 2553 และปัญหาน้ำท่วมซึ่งถือว่าเป็นภัยพิบัติที่มีผลกระทบต่อบริษัทที่รุนแรงที่สุดที่เคยมีมา” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

“ในช่วงที่ผมอยู่การบินไทยเราได้จัดหาเครื่องบินใหม่ 52 ลำโดยทั้งการซื้อและการเช่าระยะยาว และยังมีการเช่าระยะสั้นอีก 6 ลำซึ่งทำให้คุณภาพผลิตภัณฑ์ของเราดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด เมื่อรวมกับเครื่องบินที่มีการสั่งซื้อก่อนหน้านี้อีก 6 ลำ (คือ A380) จะทำให้เรามีเครื่องบินใหม่เข้ามาในฝูงบินของเราในช่วงปี 2555-60 ถึง 58 ลำ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ฝูงบินของเราจะเพิ่มขึ้น และอายุเฉลี่ยของฝูงบินจะลดลงจาก 11-12 ปีในช่วงสองปีที่ผ่านมา เหลือประมาณ 8 ปีในอีกห้าปีข้างหน้า ประสิทธิภาพของฝูงบินจะดีขึ้นมาก เพราะเครื่องบินใหม่มีประสิทธิภาพการใช้น้ำมันดีกว่าเครื่องบินเก่าประมาณ 20% และน้ำมันคือ 40% ของต้นทุนของเรา ดังนั้นเครื่องบินใหม่จึงมีต้นทุนน้ำมันต่ำกว่าเครื่องบินเก่าประมาณ 8% เป็นอย่างน้อย ในขณะที่มาร์จิ้นของธุรกิจการบินอยู่ในระดับ 3% เท่านั้น

ส่วนเครื่องบินใหม่ที่ทยอยเข้ามานี้ รวมถึงเครื่องบิน New Generation B787 ลำแรกในปี 2557 ในขณะเดียวกัน การปรับปรุงที่นั่งและระบบ Inflight Entertainment (IFE) ในเครื่องบินเก่า 20 ลำซึ่งจะเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดภายในปีนี้จะทำให้คุณภาพผลิตภัณฑ์ของเราอยู่ในระดับดีอย่างสม่ำเสมอภายในสิ้นปีนี้

โดยจากการตั้งเป้าของแผน TG 100 การบินไทยจะเป็นสายการบินอันดับ 1 ใน 5 ของโลกและ 1 ใน 3 ของเอเชีย ซึ่งก็ได้บรรลุเป้าหมายแรกแล้ว โดย Skytrax ปรับอันดับของการบินไทยขึ้นมาจากที่ 10 ในปี 2552 ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินงานในปี 2551 มาสู่อันดับที่ 9 ในปี 2553 และอันดับที่ 5 ในปี 2554 และนิตยสาร Business traveller ได้จัดลำดับเป็นที่ 2 ของโลกและเอเชีย การเป็นสายการบิน 5 ดาวจึงอยู่แค่เอื้อมมือ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ Skytrax แจ้งมาว่าจากการปลด DD ทำให้การพิจารณาการปรับอันดับเป็นสายการบิน 5 ดาวถูกเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด”

นายปิยสวัสดิ์กล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นห่วงการบินไทยอีกอย่างหลังจากนี้คือ ธรรมาภิบาลในการบริหารงาน เนื่องจากช่วงที่เป็น DD นั้นระบบการบริหารงานเปลี่ยนไปจากอดีตมากพอสมควร จากการที่คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เคยเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการในหลายๆ เรื่อง แต่ในช่วงที่ตนเข้ามาเป็น DD ฝ่ายบริหารทำหน้าที่ในการบริหารงานอย่างแท้จริงเช่นเดียวกับบริษัทที่มีหลักธรรมาภิบาลที่ดีที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการบริษัททำหน้าที่กำหนดนโยบายและกลยุทธ์ ในกรณีการโยกย้ายแต่งตั้งก็เฉพาะระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (EVP) เท่านั้นที่ต้องเสนอบอร์ดบริษัทอนุมัติ อำนาจในการอนุมัติของฝ่ายบริหารเพิ่มขึ้นมาก มิฉะนั้นเรื่องจำนวนมากต้องนำเสนอบอร์ด ซึ่งถ้าบอร์ดตัดสินใจอะไรที่ผิด ผลก็ตกอยู่กับพนักงาน เช่น การซื้อ A345 หลายปีก่อนเป็นตัวอย่างที่ดี และการหาผู้โดยสารให้เพียงพอสำหรับ A 380 ที่กำลังจะเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง แม้แต่สิงคโปร์แอร์ไลน์ก็มีปัญหาค่อนข้างมาก หากคณะกรรมการบริษัทจะเข้ามาล้วงลูกเหมือนในอดีต ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นเช่นนั้นจากมติบอร์ดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายว่าตั้งแต่ระดับ Director AA KK EA ต้องเข้าบอร์ดหมด ซึ่งเท่ากับว่าการบินไทยกำลังกลับไปสู่ยุคเดิมของการวิ่งเต้นอย่างที่สุด และการนั่งรอฟังคำสั่งจากข้างบน
กำลังโหลดความคิดเห็น