xs
xsm
sm
md
lg

ศ.ศ.ป.นำผู้ประกอบการบ้านมีดอรัญญิกจับคู่บ้านมีดดังเมืองเซกิในญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ศ.ป.ขยายผลโครงการนำร่อง “พัฒนาหมู่บ้านหัตถกรรม” ลุยโปรเจกต์แรกนำศิลปหัตถกรรมไทย “บ้านมีดอรัญญิก” จับคู่ธุรกิจต่อยอดสู่ตลาดต่างประเทศ ณ บ้านมีดเลื่องชื่อ เมืองเซกิ ประเทศญี่ปุ่น เพิ่มลู่ทางการค้าเตรียมต่อยอดสู่งานแฟร์ร่วมหอการค้าเกียวโต

นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เปิดเผยหลังจากการนำผู้ประกอบการมีดอรัญญิกเจรจาธุรกิจที่ประเทศญี่ปุ่น ว่าการไปญี่ปุ่นในครั้งนี้เป็นการทำงานต่อเนื่องตามหลักของการดำเนินโครงการ “พัฒนาหมู่บ้านหัตถกรรม (Capital of Arts & Craft)” คือ ดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่ายพันธมิตรหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Business Network) และความร่วมมือ (Cooperation) ระหว่างผู้ผลิต หมู่บ้าน ชุมชน เมือง องค์กรส่งเสริมศิลปหัตถกรรม เครือข่ายภาคธุรกิจของไทย กับประเทศพันธมิตร โดยมีศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) กับองค์กรพันธมิตรในต่างประเทศเป็นผู้ส่งเสริม ซึ่งเป็นการร่วมมือกันในระดับประเทศ เพื่อมุ่งหวังให้งานศิลปหัตถกรรมไทยสามารถยืนอยู่ได้ โดยมีช่องทางการหารายได้มีบทบาทในเชิงธุรกิจ ที่จะเป็นแรงจูงใจให้เกิดการสืบสาน สืบทอด เพราะเป็นหนึ่งในอาชีพที่สามารถทำเงินเลี้ยงตัวเองและครอบครัว

ศ.ศ.ป.ประเดิมโครงการแรกด้วยการจับคู่ธุรกิจระหว่าง “หมู่บ้านมีดอรัญญิก ประเทศไทย กับหมู่บ้านมีดเมืองเซกิ ประเทศญี่ปุ่น” ซึ่งบ้านมีดเมืองเซกิจัดอยู่ในหมู่บ้านอุตสาหกรรมมีดที่มีความเลื่องชื่อเหมาะแก่การจับคู่ธุรกิจและเป็นต้นแบบการเรียนรู้ เนื่องจากมีกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมมีดยาวนานกว่า 700 ปี และมีการพัฒนาที่ครบวงจรทั้งในแง่ของการค้า เพราะมีมูลค่าการส่งออกต่อปีมากถึง 10,000 ล้านเยน หรือเท่ากับ 4,000 ล้านบาท และไม่เพียงการสนับสนุนในด้านการค้าและการผลิตมีด เมืองเซกิยังส่งเสริมในแง่ของการท่องเที่ยวร่วมด้วย จึงเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยที่จะได้มีโอกาสเรียนรู้การบริหารจัดการที่มีความครบวงจร

โดยกิจกรรมการนำผู้ประกอบการไปประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ ศ.ศ.ป.ยังได้เพิ่มเติมการเข้าไปสร้างเครือข่ายธุรกิจกับหน่วยงานต่างๆ ร่วมด้วย เช่น การเข้าร่วมฟังบรรยาสรุป “Kyoto Connection” เพื่อสร้างแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมและพัฒนาสินค้าสู่ตลาดสากล, การเรียนรู้แนวคิดสร้างสรรค์ของบริษัท Kyoho&Fujita Sen-en, การเจรจาธุรกิจกับบริษัท Feather บริษัทผู้ผลิตใบมีดโกน และอุตสาหกรรมใบมีด, การเรียนรู้วิธีการพัฒนาเสน่ห์วัฒนธรรมมีด ในพิพิธภัณฑ์มีดเซกิ เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ ควบคู่กับการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ตลอดจนการเข้าไปสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับหน่วยงานภาครัฐสำคัญๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างความร่วมมือในอุตสาหกรรมมีดในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ ผลที่ได้กลับมาจึงนับว่าคุ้มค่าและเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ และ ศ.ศ.ป. เพราะช่วยให้สามารถขยายโอกาสทางธุรกิจการค้า ช่วยให้เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผสมผสานแนวความคิดสร้างสรรค์ ก่อเกิดเป็นแผนการพัฒนาเชื่อมโยงที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความร่วมมือผู้เชี่ยวชาญไทย-ญี่ปุ่น พัฒนาแนวทางและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้บ้านมีดอรัญญิก และการทดลองตลาด, แผนความร่วมมือระหว่าง ศ.ศ.ป. พาณิชย์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ททท.สถานทูตญี่ปุ่น เทศบาลเซกิ จัดกิจกรรมงานเปิดตัว “หมู่บ้านมีดไทย-ญี่ปุ่น” พร้อมทั้งการหารือขยายโอกาสการค้า และจัดงานแฟร์ในญี่ปุ่น ฯลฯ ซึ่งเชื่อว่ากิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้านมีดอรัญญิกในประเทศไทย ให้ผู้ประกอบการสามารถยืนได้ด้วยตนเอง และสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จัก ไม่ให้มรดกทางศิลปหัตถกรรมไทยที่มีคุณค่าหายสาบสูญไป
กำลังโหลดความคิดเห็น