มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคบุกกระทรวงพลังงานยื่นหนังสือทบทวนสูตรคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติของ บมจ.ปตท.ใหม่ หลังซุกต้นทุนผลักภาระค่าไฟให้ประชาชนรับ
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยหลังการยื่นหนังสือต่อนายอำนวย ทองสถิตย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมว่า ได้ยื่นหนังสือให้กระทรวงพลังงานไปทบทวนคู่มือการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าบริการส่งก๊าซฯ ที่ใช้ในการคำนวณสูตรค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft ที่เรียกเก็บในบิลค่าไฟประชาชนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทุก 4 เดือนที่พบความไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ที่สุดการปรับค่าไฟได้ผลักภาระมายังประชาชนแทน
ทั้งนี้ เหตุผลที่เสนอได้แก่ 1. สูตรราคาก๊าซฯ ที่ซื้อจาก บมจ.ปตท.อ้างอิงน้ำมันเตาทั้งที่การผลิตไฟฟ้าปัจจุบันใช้น้ำมันเตาและดีเซลเป็นเชื้อเพลิงแค่ 1% ทำให้ราคาสะท้อนตามน้ำมันตลาดโลก ดังนั้นจึงควรอิงราคาก๊าซฯ จากอ่าวไทยโดยตรง 2. สูตรราคาก๊าซฯ กำหนดให้โรงแยกก๊าซ บมจ.ปตท.กลุ่มเดียวที่ได้ราคาก๊าซจากอ่าวไทย แต่ก๊าซฯ ที่ขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้ผลิตไฟรายอื่นได้รับก๊าซฯ ที่เหลือจากโรงแยกก๊าซ (กากก๊าซ) ก๊าซนำเข้าจากพม่า และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)
“การกำหนดสูตรราคาก๊าซฯ ให้โรงแยกก๊าซ บมจ.ปตท.แต่เพียงกลุ่มเดียวทำให้ถูกกว่าราคาก๊าซฯ ที่ขายให้กลุ่มอื่น ทำให้เกิดสภาพปัญหาขาดก๊าซฯ ต้องนำเข้า LNG ปี 2554 เป็นเงินถึง 16,000 ล้านบาททั้งที่ก๊าซฯ เพียงพอต่อการผลิตไฟ ขณะที่ยังมีแผนนำเข้าเพิ่มจากกาตาร์อีกซึ่งราคานำเข้านั้นแพงกว่าอ่าวไทย 30-40% ส่วนนี้ต้องกลับมาผลักภาระให้ประชาชน” น.ส.สารีกล่าว
3. ต้องการให้นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน มีคำสั่งให้นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงานในฐานะประธานบอร์ด บมจ.ปตท.คืนเงินที่ ปตท.ต้องรับผิดชอบมากกว่า 30,000 ล้านบาทโดยเร็วที่สุดจากการผลักภาระไปยังผู้ใช้ไฟใน 4 เรื่อง คือ 1. เงินค่าปรับกรณีก๊าซฯ ขาด 2,600 ล้านบาท เช่น แหล่งอาทิตย์ JDA-B17 หยุดซ่อม ท่ออ่าวไทยรั่ว ปี 2554 ทำให้ กฟผ.ต้องไปใช้น้ำมันเตาผลิตไฟ 2. เงินปรับลดการลงทุนที่ต่ำกว่าแผนของระบบท่อก๊าซฯ ที่ต่ำกว่าแผน 3. เงิน Make up ก๊าซฯ พม่า 12,627 ล้านบาท 4. การนำเข้า LNG ปี 2554