ASTVผู้จัดการรายวัน - ผู้บริโภคอึ้ง แม่ค้าขายน้ำริมทางขาย “น้ำแข็งเปล่าแก้วละ 5 บาท” โอดต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว แถมน้ำบรรจุขวดส่อเค้าขาดตลาด หวั่นพ่อค้าตุนสินค้า ขณะที่ผู้ประกอบโรงน้ำแข็งชี้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 20-30% ทั้งค่าแรง ค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง ล่าสุดโรงน้ำแข็งประกาศขึ้นราคาน้ำแข็งยูนิตแบบถุงอีก 1 บาทและจะทยอยขึ้นตามต้นทุน
จากการสำรวจของ “ASTVผู้จัดการรายวัน” ถึงผลกระทบของมาตรการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทของรัฐบาลที่ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ปรากฏว่า สินค้าอุปโภคบริโภคต่างทยอยปรับขึ้นราคา โดยเฉพาะราคาอาหาร และเครื่องดื่ม ได้ประกาศปรับขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริง โดยผู้ค้าส่วนใหญ่อ้างว่ามาจากต้นทุนค่าแรงที่ปรับขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น
จากการเปิดเผยของร้านค้าจำหน่ายเครื่องดื่มรายหนึ่งบริเวณย่านบางลำพู กล่าวว่า สินค้าได้เริ่มขยับราคาขึ้นมานับตั้งแต่ช่วงน้ำท่วม 2-3 ครั้ง น้ำแข็งเคยซื้อถุงละ 30 บาท ขยับขึ้น35 บาท ต่อมาปรับเพิ่มเป็น 40 บาท ต่อมาขยับขึ้นเป็น 50 บาท โดยผู้ผลิตอ้างว่าต้นทุนแรงงานเพิ่ม เมื่อต้นทุนซื้อมาแพงก็จำเป็นต้องขายแพง ปัจจุบันต้องยอมรับว่าขายน้ำแข็งเปล่าแก้วละ 5 บาท ซึ่งสามารถแบ่งต้นทุนแก้พลาสติกใบละ 1 บาท หลอดดูดพร้อมหูหิ้วอีก 1 บาท ต้นทุนน้ำแข็งแก้วละ 2 บาท จะได้กำไรเพียงแก้วละ 1 บาทกว่าๆ เท่านั้น
“ต้องบอกลูกค้าที่จะซื้อน้ำแข็งเปล่าว่าแก้วละ 5 บาทค่ะ เพราะต้นทุนซื้อมาขายก็เกือบ 3-4 บาทแล้ว กำไรเพียงเล็กน้อย แต่ราคาน้ำบรรจุขวดต่างๆ เช่น น้ำกระเจี๊ยบ น้ำเก๊กฮวยก็ยังขายราคาเดิม ถึงแม้ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นก็ยังขาย 15 บาท ส่วนน้ำเปล่าบรรจุขวดก็ขาย 7 บาทแต่น้ำเริ่มขาดตลาด” แม่ค้ารายหนึ่งอธิบายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ผู้ค้าเครื่องดื่มรายดังกล่าวเล่าถึงปัญหาของน้ำบรรจุขวดว่าต้นทุนที่ไปซื้อมาแพกละ 60 บาท ซึ่งต้องบวกค่าขนส่งและเดินทางได้กำไรขวดละ 1 บาท ซึ่งทำให้ขายน้ำเปล่าขวดละ 7 บาทยังไม่มีการปรับราคา แต่ปัญหาคือตอนนี้สินค้าเริ่มขาดตลาด เพราะผู้ผลิตมีการกักตุนสินค้า โดยไม่นำสินค้าออกมาจำหน่ายซึ่งคาดว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาต้นทุนว่าจะมีการปรับเพิ่มราคาขายเพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน
ผู้ประกอบการโรงน้ำแข็งรายใหญ่ย่านลาดพร้าว เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมหารือผู้ประกอบการโรงน้ำแข็งว่าจะต้องมีการปรับขึ้นราคาอย่างแน่นอนอีกถุงละ 1 บาท เนื่องจากต้นทุนค่าแรงงานที่รัฐประกาศปรับขึ้นเป็น 300 บาททำให้ต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้น ถึงแม้บางโรงงานจะไม่ปรับขึ้นถึง 300 บาทเพราะมีการนำเอาค่าอาหาร ค่าที่พัก มารวมอยู่ด้วยแต่ก็มีต้นทุนปรับขึ้นอีกคนละ 20-30 บาท ประกอบกับค่า FT ค่าไฟได้ทยอยปรับขึ้นมาเป็นระลอก และค่าขนส่งและน้ำมันปรับขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำแข็งเพิ่มขึ้นอีก 20-30%
“ต้นเดือนนี้ราคาน้ำแข็งถุงยูนิตที่จำหน่ายในท้องตลาดจะทยอยปรับขึ้นอีกถุงละ 1 บาทส่วนที่ยังไม่ปรับขึ้นเพราะไม่สามารถผลิตถุงบรรจุน้ำแข็งที่พิมพ์ราคาใหม่ได้ทันจึงยอมจำหน่ายราคาเดิมไปก่อน แต่ก็จะเริ่มทยอยปรับขึ้นอย่างแน่นอนในเดือนนี้” เจ้าของโรงงานน้ำแข็งกล่าว