xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.โชว์ศักยภาพ “พี่เบิ้ม” พลังงานอาเซียน “ซก อาน” นำคณะชุดใหญ่ดูงานที่ระยอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปตท.สผ.โชว์ศักยภาพผู้นำพลังงานอาเซียน เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเทคโนโลยีปิโตรเลียมนานาชาติ โดยมี 400 บริษัทชั้นนำ 3,000 คน จาก 57 ประเทศ เข้าร่วมงาน เพื่อหารือพัฒนา การสำรวจ-ขุดเจาะแหล่งพลังงาน “ไพรินทร์” ยันกลุ่ม ปตท.มองการลงทุนไปไกลกว่าอาเซียนแล้ว แต่ยังมุ่ง พม่า เขมร และ ติมอร์ ยอมรับ “ซก อาน” นำคณะใหญ่ร่วมหารือ พร้อมดูงานที่มาบตาพุด คาด เจรจาพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา เชื่อ จะมีข่าวดี 2 ชาติ ตกลงในความร่วมมือพัฒนาและนำก๊าซธรรมชาติจากแหล่งดังกล่าวขึ้นมาใช้

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงานการจัดการประชุมเทคโนโลยีปิโตรเลียมนานาชาติ 2011 หรือ 2011 International Petroleum Technology Conference (2011 IPTC) ซึ่งบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP (ปตท.สผ.) เป็นเจ้าภาพในการประชุม โดยระบุว่า การบริโภคพลังงานในไทยเทียบกับน้ำมันดิบอยู่ที่ 9.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน พบว่า ปริมาณการใช้ 44% มาจากแหล่งเชื้อเพลิงในประเทศ และอีก 56% มาจากการนำเข้า

ดังนั้น ไทยจึงเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีการขุดเจาะหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ นอกเหนือจากแหล่งปิโตรเลียมในไทยที่มีอยู่ 82 แหล่ง แต่ยังต้องตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทั่วโลกกำลังตระหนัก ตามแนวทางการพัฒนาพลังงานและปิโตรเลียมอย่างยั่งยืน ด้วยการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 9.47 ล้านตันต่อปีตามเป้าหมาย

นายอานนท์ ศิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้นับเป็นโอกาสสำคัญของ ปตท.ที่จะพบกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อขยายโอกาสในการลงทุน โดยเฉพาะประเทศในทวีปแอฟริกา และอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งแหล่งก๊าซและน้ำมัน ซึ่งจะนำไปต่อยอด และพิจารณาความเสี่ยงในนโยบายการลงทุนด้านพลังงานต่อไป

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการประชุมหารือเกี่ยวกับเทคโนโลยีในด้านธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นที่ยอมรับทั่วโลก และเป็นการแสดงศักยภาพของกลุ่ม ปตท.ในฐานะบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของไทย และยังทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลาง ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความชัดเจนมากขึ้น

แนวคิดในการจัดงานครั้งนี้ คือ การหาแหล่งพลังงานที่สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม สังคม ได้อย่างยั่งยืน โดยการจัดงานครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 ได้รับความสนใจจากบริษัทด้านพลังงานทั่วโลกกว่า 400 บริษัท ประมาณ 3,000 คน จาก 57 ประเทศ เข้าร่วมงาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่ม ปตท. เป็นองค์กรที่สามารถดึงดูดให้องค์กรต่างๆ เข้าร่วมประชุมได้ และเป็นที่ยอมรับขององค์ที่โดดเด่นในภูมิภาคนี้ โดยการประชุมครั้งนี้ยังสามารถต่อยอด วิธีการแลกเปลี่ยนการทำงาน มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้ ในธุรกิจขุดเจาะสำรวจได้

นายอนนต์ กล่าวว่า ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจจากต่างประเทศ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะเกิดปัญหาน้ำท่วม และข่าวการก่อการร้าย จึงยังเป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนต่อไปได้

นอกจากนี้ ยังเป็นเวทีที่เป็นโอกาสที่ ปตท.สผ.จะขยายการลงทุนใหม่ๆ มากขึ้น โดย ปตท.สผ.ก็ยังสนใจลงทุนในประเทศแอฟริกา กำลังเจรจากับพันธมิตร ซึ่งอาจจะมีโอกาสในการร่วมลงทุน ส่วนประเทศในอเมริกาเหนือทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน แต่ก็ยังเป็นความเสี่ยง เพราะทิศทางการทำงานของ ปตท.สผ.ต้องดูที่การสร้างมูลค่าเพิ่มได้ และต่อยอดของรายได้ ส่วนพื้นที่ในแถบนี้ก็สนใจประเทศพม่า เพราะมีศักยภาพด้านพลังงานสูง

สำหรับการพัฒนาแหล่ง M9 จะมีการก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯ ระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร มาเชื่อมต่อท่อก๊าซฯ ที่บ้านอีต่อง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันมีท่อส่งก๊าซ จากแหล่งยาดานา และเยตากุน อยู่แล้ว ส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นในแหล่งนี้ ก็จะเป็น ปตท.สผ.80% ส่วนอีก 20% เป็น บริษัท เมียนมาร์ ออยล์ แอนด์ แก๊ส เอนเตอร์ไพรซ์ ซึ่งยังไม่มีแผนลดสัดส่วนหุ้นมากกว่านี้ โดยแหล่งนี้มีกำหนดการจะจ่ายก๊าซในปลายปี 2556

ด้าน นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ปตท.มองการลงทุนไปเกินประเทศแถบอาเซียนไปแล้ว แต่ถ้าเป็นการลงทุนในอาเซียนจะมีการก่อสร้างและพัฒนาในพม่า กัมพูชา และ ติมอร์

ทั้งนี้ การที่รองนายกรัฐมนตรี นายซก อาน ของกัมพูชา นำคณะใหญ่มา ก็จะมีการไปดูการลงทุนของ ปตท.ที่มาบตาพุด จ.ระยอง ด้วย และอาจจะมีการหารือเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ซึ่งทาง ปตท. หวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งสองชาติจะมีข้อตกลงในความร่วมมือพัฒนาและนำก๊าซธรรมชาติจากแหล่งดังกล่าวขึ้นมาใช้

“ตอนนี้ไทยอยากจะไปช่วยพัฒนาระบบพลังงานในกัมพูชา ปัจจุบันมีการขยายสถานีบริการน้ำมันแล้ว และกำลังจะช่วยพัฒนาระบบเอ็นจีวี หากกัมพูชานำก๊าซขึ้นมาใช้ได้” นายไพรินทร์ กล่าวสรุปทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น