เอกชนแฉปัญหาสินบนทำต้นทุนพุ่ง 40% แต่ไม่สามารถลงบัญชีได้ เรียกร้อง นักการเมือง-ข้าราชการ ร่วมมือแก้ปัญหา ส่วย-จ่ายใต้โต๊ะ-ฮั้วประมูล แบบครบวงจร ลั่นเพื่อความเป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจ พร้อมฝากให้ภาคธุรกิจมีความซื่อสัตย์
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานการประชุมระดับชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตประจำปี 2554 โดยระบุว่า ภาคเอกชนต้องการเสนอให้นักการเมือง ข้าราชการประจำ และนักธุรกิจ ร่วมกันบูรณาการแก้ปัญหาการจ่ายเงินสินบน และการฮั๊วประมูลงานแบบครบวงจร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการทำธุรกิจ เนื่องจากที่ผ่านมาภาคเอกชนต้องภาระต้นทุนแฝงตรงนี้มาก 30-40% ที่สำคัญ หากรายใดไม่ดำเนินการในลักษณะนี้ ก็ประมูลงานหรือการหาคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ได้ยาก
“ปัจจุบันการแข่งขันทางธุรกิจมีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้หลายบริษัทต้องเอาตัวรอดจากเดิมที่มีการแข่งขันกันด้วยการพัฒนาสินค้าให้เกิดมูลค่ามากที่สุด แต่ตอนนี้ประเทศไทยกลับถูกบิดเบือนด้วยวิธีการบางอย่าง ทำให้หลายๆ อุตสาหกรรมตั้งธงมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้งานมา และทำอย่างไรต้องลดต้นทุนให้มากสุด เพราะหลายรายต้องจ่ายเงินสินบน 30-40% ซึ่งตรงนี้เอกชนมีความอึดอัดมาก จึงต้องออกมาโวยวาย เพราะต้นทุนตรงนี้ไม่สามารถที่จะนำไปลงบัญชีการผลิตสินค้าได้”
ขณะเดียวกัน ต้องการให้ภาครัฐแก้กฎหมายบางมาตรา เช่น การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความผิดในคดีแพ่ง จากปกติกว่าศาลจะตัดสินจนจบกระบวนการต้องใช้เวลา 10 ปี ให้เหลือเพียงให้เสร็จภายใน 3 ปี ซึ่งในกรณีนี้จะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีที่ถูกโกง จะเสี่ยงต่อการปิดกิจการก่อนที่จะได้รับเงินจากการฟ้องร้องดำเนินคดี เนื่องจากบริษัทรายเล็กมีเงินสภาพคล่องต่ำ
ด้าน นายเมธี ครองแก้ว กรรมการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ป.ป.ช.ต้องการให้ภาคธุรกิจมีความซื่อสัตย์ 5 ข้อ เกี่ยวกับกับดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย ซื่อสัตย์ต่อการปฏิบัติตามระเบียบของบ้านเมือง โดยไม่มีการหลีกเลี่ยงภาษี ซื่อสัตย์ต่อภาคอุตสาหกรรมโดยต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดผลกระทบจากธุรกิจ ซื่อสัตย์ต่อคู่แข่ง โดยไม่ไปล้วงความลับ ซื่อสัตย์ต่อลูกค้าด้วยการไม่เอากำไรมากเกินไป
นางจุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่ภาคเอกชนของไทยมีความกล้าในการออกมาต่อต้านการทุจริต หรือการจ่ายสินบน อย่างไรก็ตาม เป็นห่วงสถานการณ์สังคมไทยในตอนนี้อย่างมาก เพราะสังคมไทยกำลังเกิดวิกฤตด้านคุณธรรมและจริยธรรม เบื้องต้นแม้กฎหมายจะเข้มงวดและเจ้าหน้าที่จะมีหลักฐานเกี่ยวกับการคอร์รับชั่นแต่บางกลุ่มมีกระบวนการบิดเบือน ส่งผลให้กลุ่มคนบางกลุ่มไม่กลัวการกระทำความผิด
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน 32 องค์กร ซึ่งเป็นการรวมตัวของทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่เกาะกินระบบเศรษฐกิจมานาน เพราะการจ่ายสินบนต่างๆกลายเป็นต้นทุนของธุรกิจ ซึ่งนับว่าจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เอกชนต้องออกมาเรียกร้องเพื่อหยุดกระบวนการดังกล่าว