สคบ. คุมเข้มปั๊มน้ำมัน หลังได้รับเรื่องร้องเรียนเพียบ เตือนประชาชนระวังเติมน้ำมันช่วงหน้าฝน อาจมีน้ำปนส่งผลเครื่องยนต์พัง ตั้งข้อสังเกตหัวจ่ายน้ำมันไม่เต็มลิตร เอาเปรียบผู้บริโภค งัดมาตรการสุ่มตรวจถี่เพื่อป้องปราม พร้อมแนะเทคนิคการตรวจสอบการให้บริการ และช่องทางที่อาจทำให้เสียเงินฟรี
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า สคบ.เตรียมร่วมมือกับสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ต่างๆ ช่วยประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนที่ใช้บริการเติมน้ำมันในปั๊มน้ำมันทั่วประเทศให้เฝ้าระวังการเติมน้ำมันในช่วงฤดูฝน เพราะอาจมีน้ำเข้าไปผสมทำให้เครื่องยนต์ขัดข้อง
ทั้งนี้ พบว่า ที่ผ่านมา มีผู้บริโภคบางรายไปเติมน้ำมันของปั๊มน้ำมันมีชื่อแห่งหนึ่งแล้ว พบว่า มีน้ำปนอยู่กับน้ำมันในปริมาณมากทำให้เครื่องยนต์สตาร์ตไม่ติด ดังนั้น คงจะให้เครือข่ายให้ไปช่วยประชาสัมพันธ์ รณรงค์ และบอกต่อ รวมทั้งให้ภาคประชาชนที่ต้องเติมน้ำมันเป็นประจำคอยตรวจสอบปั๊มที่เข้าไปเติมน้ำมันด้วย หากไม่แน่ใจว่ามีน้ำเข้ามาปนอยู่กับน้ำมันหรือไม่ ก็สามารถเอารถเข้าไปที่ตรวจสอบที่สถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีเครื่องมือช่วยตรวจก่อนก็ได้
นอกจากนี้ สคบ.ยังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับหัวจ่ายน้ำมันที่เอาเปรียบผู้บริโภคด้วย เนื่องจากไม่มั่นใจว่าการกดน้ำมันออกมา 1 ลิตร จะได้จริงหรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวคงต้องออกสุ่มตรวจ และคอยเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะกรณีการเติมน้ำมันไม่ครบปริมาณที่กำหนดจะทำให้ผู้ประกอบการมีกำไรจากส่วนต่างของปริมาณน้ำมัน และเอาเปรียบผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สคบ.ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เฝ้าระวังการเติมน้ำมันแล้ว โดยเฉพาะวิธีการตรวจสอบการให้บริการ เช่น ผู้ใช้ควรลงจากรถมาดูที่หน้าจอของตู้น้ำมันว่าตัวเลขที่หน้าจอเริ่มต้นที่ 0.00 หรือไม่ก่อนที่จะเติมน้ำมัน
ผู้บริโภคควรตรวจดูหัวจ่ายน้ำมันด้วยว่าอยู่ในตำแหน่งที่ถูกกำหนดไว้หรือไม่ หากมีรถเติมน้ำมันอยู่ก่อนแล้วให้ดูว่าวางหัวจ่ายในตำแหน่งที่กำหนดไว้หรือว่าถือรอโดยไม่วางหรือวางผิดตำแหน่ง
นอกจากนี้ สถานีบริการน้ำมันควรบอกราคาเป็นจำนวนตัวเลขมากกว่าที่จะบอกว่าเติมน้ำมันเต็มถัง เพราะถ้าหากเด็กปั๊มมีการกดปล่อยหัวจ่ายน้ำมันแรงเกินไปจะทำให้เกิดฟองขึ้นได้ ซึ่งระบบเซ็นเซอร์ของหัวจ่ายน้ำมันจะหยุดทำงานทันทีเมื่อสัมผัสกับฟองที่เกิดขึ้นหรือได้เพียงลมเปล่าๆ เท่านั้น ทำให้ได้ปริมาณน้ำมันไม่ตรงตามที่ต้องการ
ทั้งนี้ ผู้ที่ใช้บริการยังสามารถขอให้สถานีบริการน้ำมันทดสอบความเที่ยงตรงของการจ่ายน้ำมันได้ โดยแต่ละสถานีจะมีการบริการทดสอบดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการไว้ทุกสถานีอยู่แล้ว