ผู้ประกอบการแห่จดธุรกิจใหม่ “พาณิชย์” เผยตัวเลขครึ่งปี 54 พุ่งขึ้น 25% ขณะที่ไซส์ทุนจดทะเบียนปรับตัวลดลง 1% เนื่อจากเป็นธุรกิจรายย่อย จึงใช้เงินทุนตั้งต้นไม่สูงมากนัก บอร์ดค่าจ้างชุดเล็ก กทม.เสนอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก 7 บาท เพิ่มเป็นวันละ 222 บาท คาดเสนอบอร์ดค่าจ้างชุดใหญ่ 11 ก.ค.นี้
นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ช่วง 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน) 2554 มีผู้ประกอบการมาขอจดจัดตั้งเป็นนิติบุคคล ประเภทห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัด ทั่วประเทศจำนวน 3.15 หมื่นราย เพิ่มขึ้น 25% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้น 6,378 ราย มีทุนจัดตั้งรวมทั้งหมด 1.61 แสนล้านบาท ลดลง 1% เทียบกับช่วงเดียวกัของปีที่ผ่านมา หรือลดลง 2,489 ล้านบาท โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บริการนันทนาการ ก่อสร้างอาคารทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ บริการด้านธุรกิจอื่น และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริการจัดการ
ขณะที่ยอดการจดทะเบียนทั่วประเทศเฉพาะเดือนมิถุนายน 2554 มีจำนวน 5,432 ราย เพิ่มขึ้น 25% เทียบกับเดือนมิถุนายนปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 1,111 ราย ส่วนทุนจัดตั้งมีมูลค่า 2.24 หมื่นล้านบาท ลดลง 33% เทียบกับ มิ.ย.ปีก่อน หรือลดลง 1.14 หมื่นล้านบาท โดยธุรกิจที่จดทะเบียนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บริการนันทนาการ ก่อสร้างทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ บริการธุรกิจอื่น และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้นในแง่ปริมาณ เป็นเพราะผู้ประกอบการให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรก มาจากการส่งออก การลงทุนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งดัชนีในตลาดหุ้นของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนมูลค่าทุนที่ลดลงสวนทางกับจำนวนธุรกิจจัดตั้ง อาจเป็นเพราะธุรกิจที่จัดตั้งใหม่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมใช้เงินลงทุนไม่สูง ต่างจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการลงทุนในธุรกิจต้องใช้เงินลงทุนมาก เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของภาครัฐ
**เคาะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กทม.เพิ่มอีก 7 บ.
นางอำมร เชาวลิต ประธานคณะอนุกรรมการค่าจ้างกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยผลการประชุมคณะอนุกรรมการฯ (บอร์ด) ค่างจ้าง วันนี้ โดยระบุว่า บอร์ดได้มีมติเห็นชอบให้ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในเขต กทม. เพิ่มอีก 7 บาท จากปัจจุบันที่กำหนดไว้ 215 บาทต่อวัน หากไม่มีการปรับเปลี่ยนจะทำให้ค่าแรงขั้นต่ำ กทม.เพิ่มเป็น 222 บาทต่อวัน
“ที่ประชุมพิจารณาตามสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ อัตราเงินเฟ้อ ราคาสินค้า ความจำเป็นของลูกจ้างและความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ซึ่งทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างก็คุยกันด้วยเหตุด้วยผลและได้ข้อสรุปในอัตรานี้”
สำหรับขั้นตอนต่อไป คณะอนุกรรมการค่าจ้าง กทม.จะเสนอตัวเลขให้คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง ซึ่งมี นายสุนันท์ โพธิ์ทอง รองปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานได้พิจารณา อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้กำหนดวันประชุมที่ชัดเจนในขณะนี้ หลังจากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางวันที่ 11 กรกฎาคม 2554 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2554