xs
xsm
sm
md
lg

กรุงเทพมหานคร คว้าอันดับสาม “สุดยอดจุดหมายปลายทางของโลก” จากโผมาสเตอร์การ์ด Global Destination Cities

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


  ลอนดอนนำลิ่วมาเป็นอันดับแรก ส่วนปารีสรั้งอันดับสอง

มาสเตอร์การ์ดเผยโผ มาสเตอร์การ์ด เวิลด์วายด์ อินเด็กซ์ ออฟ โกลบอล เดสติเนชั่น ซิตี้ (MasterCard Worldwide Index of Global Destination Cities) หรือโผสุดยอดจุดหมายปลายทางของโลกประจำปี 2554 คาดมีจำนวนนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมายังกรุงเทพฯ สูงถึง 11.5 ล้านคนภายในปีนี้ ถือเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมามากที่สุดในโลกเป็นอันดับสาม รองจากลอนดอนที่คาดว่ามี 20.1 ล้านคน และปารีส 18.1 ล้านคน ตามลำดับ

สำหรับการจับจ่ายสูงสุด 5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวในแต่ละประเทศ คาดลอนดอนมีนักท่องเที่ยวใช้จ่ายสูงที่สุดในโลก ถึง 25.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 768,000 ล้านบาท) ตามมาด้วยนิวยอร์ก 20.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 609,000 ล้านบาท) ปารีส 14.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 438,000 ล้านบาท) กรุงเทพมหานคร 14.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 432,000 ล้านบาท) และแฟรงก์เฟิร์ต 14.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 420,000 ล้านบาท)

สำหรับโผสุดยอดจุดหมายปลายทางของโลก ประมวลจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าแต่ละประเทศตลอดปี เทียบจากจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศแต่ละสายการบิน (อ้างอิงจาก OAG Global) และคาดการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวเหล่านี้ในประเทศนั้นๆ (อ้างอิงจาก UN Trade in Service) จากทั้งหมด 132 เมืองหลักในโลก จำแนกเป็น 5 ภูมิภาค ได้แก่ เอเชียแปซิฟิก 45 เมือง, ยุโรป 33 เมือง, ตะวันออกกลาง และอัฟริกา 21 เมือง, ละตินอเมริกา 19 เมือง และอเมริกาเหนือ 14 เมือง

สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมากรุงเทพฯ สูงสุด 5 อันดับแรก มาจาก สิงคโปร์ (869,000 คน) ฮ่องกง (822,000 คน) โตเกียว (711,000 คน) โซล (503,000 คน) และลอนดอน (456,000 คน)

ดร. ยุวะ เฮ็ดริก หว่อง ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ มาสเตอร์การ์ด เวิลด์วายด์ กล่าวว่า “ปัจจุบันนี้คนนิยมการเดินทางไปต่างประเทศ และจับจ่ายใช้สอยในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เป็นกระแสนิยม ทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีความยืดหยุ่น และฟื้นตัวได้เร็ว การท่องเที่ยวกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญในยุคโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาในแถบเอเชีย ละตินอเมริกา ยุโรปกลาง และตะวันออก และอัฟริกา เป็นที่จับตามองในเวทีเศรษฐกิจระดับโลก และเริ่มมีบทบาทสำคัญในฐานะศูนยย์กลางของการเชื่อมโยงประเทศในทวีปต่างๆ เข้าด้วยกัน”

กำลังโหลดความคิดเห็น