xs
xsm
sm
md
lg

3 สมาคมฯ แจงน้ำตาลไม่ขาด-ค้างโกดังเพียบ 146 ล้าน กก.แนะอย่าดูแค่โมเดิร์นเทรด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย มั่นใจปริมาณน้ำตาล 2,500 ล้านกิโลกรัม เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศแน่นอน หลังมีข้อมูลน้ำตาลค้างกระดานรอขายกว่า 146 ล้าน กก.เทียบเท่ากับ 3 งวดปกติ ระบุสัดส่วนการขายน้ำตาลในโมเดิร์นเทรดแค่ 8-10% ของปริมาณน้ำตาลในประเทศทั้งหมด ไม่สามารถเป็นดัชนีชี้วัดว่า น้ำตาลขาดแคลนได้ ชี้ ทางแก้ปัญหาน้ำตาลในโมเดิร์นเทรด ให้ห้างตักน้ำตาลขายโดยโรงงานไม่ต้องลงทุนแพ็คถุง และเข้มงวดกับผู้ค้าปลีกทั่วไปให้ขายในราคาควบคุม

นางวัลยารีย์ ไพสุขศานติวัฒนา เลขานุการคณะทำงานด้านตลาดภายในประเทศของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากการจัดเก็บข้อมูลของโรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 28 มีนาคม 2554 พบว่า สำหรับโควตา ก.(จำหน่ายในประเทศ) ได้จำหน่ายน้ำตาลทรายออกไป 6,637,274.97 กระสอบ จากน้ำตาลทรายที่ได้ขึ้นงวดแล้ว 7,973,066 กระสอบ จึงเหลือน้ำตาลที่ค้างกระดานอีก 1,335,791.03 กระสอบ หรือ 133.58 ล้านกิโลกรัม เมื่อรวมกับน้ำตาลฤดูการผลิตเมื่อปี 2552/2553 ที่มียอดค้างกระดานรอการขายอีก 12.71 ล้านกิโลกรัม ทำให้ ณ วันที่ 28 มีนาคม มีน้ำตาลทรายที่รอการขายสูงถึง 146.29 ล้านกิโลกรัม

ทั้งนี้ ในแต่ละสัปดาห์ จะมีน้ำตาลทรายขึ้นงวดเพื่อขายในประเทศอีกประมาณ 48 ล้านกิโลกรัม น้ำตาลที่ค้างกระดานปัจจุบันนี้ จึงเทียบเท่ากับ 3 งวดปกติ “ช่วงเดียวกันของฤดูการผลิตปีที่ผ่านมา มีน้ำตาลค้างกระดานเพียง 102.92 ล้านกิโลกรัมเท่านั้น แต่ปีนี้มีปริมาณน้ำตาลค้างกระดานสูงกว่ามาก สะท้อนว่า ความต้องการน้ำตาลในประเทศในปีนี้ต่ำกว่าปีที่แล้ว ในขณะที่ปริมาณน้ำตาลโควตา ก.ที่จัดสรรไว้ปีนี้ที่ 25 ล้านกระสอบ หรือ 2,500 ล้านกิโลกรัม สูงกว่าปีที่แล้วถึง 3 ล้านกระสอบ และยังมีสำรองไว้อีก 3 ล้านกระสอบ หรือ 300 ล้านกิโลกรัม รวมเป็นปริมาณที่เตรียมไว้บริโภคในประเทศเท่ากับ 2,800 ล้านกิโลกรัม ซึ่งเป็นการเพิ่มจากปีที่แล้ว 30% จึงเชื่อว่า ปริมาณน้ำตาลในปีนี้จะเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศอย่างแน่นอน” นางวัลยารีย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกว่าน้ำตาลขาดแคลนนั้น น่าจะมาจากกรณีที่ผู้บริโภคไปซื้อน้ำตาลทรายบรรจุถุง 1 กิโลกรัมตามห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (โมเดิร์นเทรด) แล้วไม่สามารถหาซื้อได้ในบางแห่ง เป็นเพราะเรื่องของราคาขาย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์กำหนดราคาขายปลีกน้ำตาลในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่กิโลกรัมละ 23.50 บาท แต่ในทางปฏิบัติจริงประชาชนที่ซื้อน้ำตาลถุง 1 กิโลกรัมในห้างโมเดิร์นเทรดจะได้ราคาต่ำกว่าซื้อตามตลาดสด หรือซื้อจากร้านโชว์ห่วย ประกอบกับการขยายสาขาของโมเดิร์นเทรด ทำให้มีความต้องการซื้อน้ำตาลจากโมเดิร์นเทรดสูงขึ้นมาก

“แม้ความต้องการของโมเดิร์นเทรดจะสูง แต่ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายก็มีเพียง 4 ราย ที่ทำน้ำตาลถุง 1 กิโลกรัมมาจำหน่าย เพราะต้นทุนการผลิตสูงกว่าราคาขาย จึงไม่มีใครอยากขาดทุน รายที่ทำออกมาขายและยอมขาดทุนก็เพราะถือว่า เป็นงบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์ หรือสร้างแบรนด์”

เลขานุการคณะทำงานด้านตลาดภายในประเทศของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวด้วยว่า ปริมาณน้ำตาลทรายที่ขายในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่คิดเป็น 8-10% เท่านั้น เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำตาลที่จำหน่ายในประเทศทั้งหมด ดังนั้น การใช้ช่องทางโมเดิร์นเทรดเป็นตัวแทนของการบริโภคน้ำตาลภายในประเทศ ไม่น่าจะถูกต้อง

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำตาลในโมเดิร์นเทรด สามารถทำได้หลายทาง เช่น ให้ผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรดซื้อน้ำตาลทรายขนาด 50 กิโลกรัม จากโรงงานไปบรรจุถุงขายให้กับผู้บริโภคตามความต้องการ รวมไปถึงการเข้มงวดตรวจจับผู้ค้าปลีกน้ำตาลในราคาเกินกว่าราคาควบคุม เพื่อลดการเก็งกำไรโดยการไปซื้อน้ำตาลจากโมเดิร์นเทรดมาขายต่อนอกห้าง
นางวัลยารีย์กล่าวอีกว่า การกำหนดปริมาณน้ำตาลโควตา ก.ที่ชัดเจนจะส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยและประเทศชาติ เพราะจะมีผลต่อการวางแผนการจำหน่ายน้ำตาลโควตา ค.หรือน้ำตาลส่งออก ซึ่งจะต้องทำสัญญาขายล่วงหน้า หากไม่มีความชัดเจนก็จะทำให้เสียโอกาสจากการขายน้ำตาลในระดับราคาที่เหมาะสม ซึ่งผลตอบแทนที่ได้จะเป็นส่วนของชาวไร่อ้อย 70% และโรงงานน้ำตาล 30%

“อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อปริมาณน้ำตาลในประเทศ ก็คือ ภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าส่งออกโดยใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบ อยากให้ภาครัฐตรวจสอบให้ชัดว่าใช้น้ำตาลโควตา ก.เป็นวัตถุดิบปริมาณเท่าใด หรือหากกำหนดให้ชัดเลยว่าจะใช้โควตา ก.หรือโควตา ค.ก็จะทำให้การจัดสรรสัดส่วนของโควตา ก. ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในภาวะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงเช่น ในปัจจุบันนี้ ภาครัฐจะต้องเข้มงวดกับการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำน้ำตาลโควตา ก. ออกไปขายตามชายแดนด้วย”

อนึ่ง บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เป็นองค์กรช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย ด้วยข้อมูลข่าวสาร การวิเคราะห์อย่างถูกต้อง และการสื่อสารความจริงให้สังคมและภาครัฐได้ร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น