“บอร์ด อสมท.” แจง “กมธ.สื่อสารและโทรคมนาคม” ประหลาดใจข้อมูลศึกษากมธ.ด้าน สุรพล รับคุย ประวิทย์ จริง ย้ำ ต้องยึดหลักสัญญา อ้างช่อง 3 โตเพราะมาลีนนท์เก่ง ส่วนบอสช่อง 3 ใจปลาซิวหลบหน้าไม่ชี้แจงต่อ กมธ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการสื่อสารและโทรคมนาคม ที่มี นายคงกฤช หงส์วิไล เป็นประธานกรรมาธิการ และ นายเชน เทือกสุบรรณ รองประธาน โดยได้เชิญ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานบอร์ด อสมท และผู้บริหารช่อง 3 มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้บริหารช่อง 3 ปฏิเสธที่จะเข้าชี้แจง
ดร.สุรพล กล่าวว่า อยากให้อนุกรรมาธิการไปดูใหม่อีกครั้ง ที่ อสมท บอกว่า รายงานประจำปีแจ้งตลาดหลักทรัพย์เขาเขียนไว้ชัดเจนว่า บีอีซีเวิลด์เป็นผู้ดำเนินกิจการโทรทัศน์วิทยุการกระจายเสียง และมีการระบุช่อง 3 และได้ระบุใน ก.ล.ต.ว่า ซึ่งเป็นกิจการที่ดำเนินการโดย บางกอกเอนเตอร์เทนเม้นต์ (บีอีซี) ในฐานะที่เป็นคู่สัญญา และรายงานประจำปีที่ส่งตลาดหลักทรัพย์ก็แยกงบดุลบริษัทย่อยในเครือโดยชัดเจน ก็รายงานว่า บีอีซีมีรายได้ต่อปีเท่าไหร่ กลุ่มบีอีซีเวิลด์ทั้งกลุ่มมีทั้งหมด 20 กว่าบริษัทมีรายงานงบดุลของบริษัทย่อยด้วย
“ถ้า อสมท คิดว่า การกระทำการของ บีอีซีเวิลด์ จะทำให้เกิดการเข้าใจผิด เพราะบีอีซีเวิลด์คือ เจ้าของช่อง 3 เขาได้ดำเนินการทำจดหมายแจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์และบริษัทที่เกี่ยวข้องแล้ว ว่า กิจการช่อง 3 เป็นของบีอีซี และแนบสำเนาจดหมายทั้งหมดมาให้ อสมท ด้วย”
ดร.สุรพล กล่าวว่า ภายในโลกยุคปัจจุบัน มีธุรกิจมีสัญญามีการดำเนินการร่วมกับต่างประเทศมากมาย ผมคิดว่า อสมท ยึดหลักสัญญาต้องเป็นสัญญา ถ้ามันทำโดยชอบโดยผู้มีอำนาจก็คงปฏิเสธว่าไม่ชอบก็ไม่ได้ และที่สำคัญ ก็ปฏิบัติมาแล้ว 19 ปีเศษ จนกำลังจะครบเวลา 20 ปีแล้วถ้าจะบอกสัญญานั้นไม่ชอบต้องดูว่าบนพื้นฐานอันนี้ อสมท เสียเปรียบอย่างไร
เพราะเขา (บริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด) ก็บริหารโดยความเสี่ยงของเขา วิทยุโทรทัศน์ จำนวนมากเจ๊งไป เขาเจริญเติบโตมาได้ก็เป็นความสามารถของเขา แต่ถามว่า อสมท เสียเปรียบอะไรในความรู้สึกของ อสมท ในปี 32 มีข้อเดียว คือ การแบ่งรายได้ 6.5% จากรายได้รวมของบริษัท และวันนี้รายได้รวมบริษัทถ้าคิด 6.5% มันเพิ่มกว่าเดิมอีกมาก นี่คือจุดที่อสมท ตระหนัก เรามีสัญญาเพราะคณะรัฐมนตรีอนุมัติมา เราต้องเคารพสัญญานั้นๆ
ที่คณะอนุกรรมาธิการ บอกว่า มีการจับเข่าคุยกันระหว่างประธาน อสมท กับ คุณประวิทย์ มาลีนนท์ ได้พบกันที่ อสมท จริง 2 คน ซึ่งตนได้บอกว่า อสมท เสียเปรียบ และไม่รับความเป็นธรรม จากการแก้ไข ผมยังไม่พูดข้อกฎหมายกับคุณประวิทย์ แต่บอกว่า ถึงวันที่ 25 มี.ค.นี้จะครบสัญญาถ้าต่ออีก 10 ปีเป็นไปได้หรือไม่ ที่ช่อง 3 จะกรุณาเพิ่มค่าตอบแทนให้ อสมท ตามสัญญาครั้งที่ 2 คือ 6.5% ของรายได้รวมไม่ใช่รายได้คงที่แต่ละปีคุยกัน
บีอีซี ใช้เวลา 1 เดือน มีจดหมายตอบกลับไปว่าที่ อสมท ขอให้เพิ่มค่าตอบแทนจาก 2,002 ล้านบาท ใน 10 ปี ให้เป็น 6.5% ของรายรับรวมนั้นดูตามสัญญาแล้ว บีอีซีไม่อาจดำเนินการให้ได้เพราะได้ตกลงกันล่วงหน้าแล้ว มีเหตุผลจะเพิ่มได้ข้อเดียวคือจะต้องมีค่าครองชีพเกิน 5% เท่านั้น
เพราะฉะนั้น ฝ่ายกฎหมาย อสมท ได้เตรียมยกร่างหนังสือบอกเลิกเลิกสัญญาโดยเหตุ 2 ข้อนำเข้ากรรมการอสมท คณะกรรมการ อสมท มีมติในเรื่องนี้เลย
ทั้งนี้ เราก็ได้นัดเจรจากันอีกครั้ง เราได้มานั่งเจราจากัน สุดท้ายคุณประวิทย์บอกขอรับไปคิด ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็มีการแจ้งข่าวมาว่าบีอีซีจะจ่ายเงินให้ อสมท แต่บีอีซี ขอยืนยันตามที่ได้ส่งจดหมายที่ตอบปฏิเสธมาว่าเงินที่จ่ายไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสัญญาซึ่งสมบูรณ์ไปแล้วครบถ้วนและเขาบอกว่าเขายินดีจ่าย ผมได้มอบหมายให้กรรมการ 3-4 คน ที่ได้รับมอบหมายให้ไปเจรจาเรื่องการเงินโดยเฉพาะผมเรียนว่าสูตรการเจรจาเป็นเอกสารแผ่นเดียวที่ผมแจกให้อนุกรรมาธิการฯไป ไม่ได้มีอะไรปกปิดตัวเลขที่กรรมาธิการคิดอยู่ในใจแล้ว คือ 423.8 ล้าน ซึ่งเป็นเงินที่มาจาก 6.5% ของรายได้ของบีอีซีในระยะอีก 10 ปีข้างหน้าที่จะต้องเพิ่มขึ้นจาก 2,002 ล้านบาท
นายเชน กล่าวว่า คงต้องยอมรับว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการศึกษาข้อมูลของอนุกรรมาธิการฯเมื่อเรามีข้อสงสัยก็เชิญท่านมาชี้แจง ซึ่งหลังจากนี้ไปกรรมาธิการฯจะสรุปข้อมูลทั้งหมดส่งให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบ
ภายหลังจากการประชุม นายฮอชาลี มาเหร็ม โฆษกกรรมาธิการ กล่าวว่า การมาชี้แจงของบอร์ด อสมท เป็นธรรมดาที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่อนุกรรมาธิการ มองว่า น่าจะทำได้ดีกว่านี้ ที่เราอยากให้ อสมท ทบทวนการต่อสัญญา เพราะเรามองในเรื่องการเติบโตของช่อง 3 ว่าจะโตไปมากกว่านี้ จะนำข้อเสนอมาพิจารณาในอนุกรรมาธิการ ส่วน อสมท จะดำเนินการอย่างไรต่อไปเป็นเรื่องของ อสมท วันนี้ เราเชิญช่อง 3 มาแต่เขาปฏิเสธที่จะไม่มา เราคงไม่รอ ต่อไปนี้เป็นเรื่องของภาคประชาชนจะดำเนินการต่อในการยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.