xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เชื่อต่างด้าวร่วมชุมนุม “แดงนรก” สั่งนายจ้างห้ามปล่อยเพ่นพ่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่ห่วง “แดงนรก” ขนต่างด้าวป่วนกรุง รมว.แรงงาน สั่งคุมเข้มแรงงานต่างด้าว ห้ามปล่อยออกมาเพ่นพ่านนอกพื้นที่ช่วง 12-14 มี.ค.มิเช่นนั้นจะมีความผิด แต่สามารถขออนุญาตได้ ชี้ คนไทยเท่านั้นจึงจะมีสิทธิชุมนุมตาม รธน.เตรียมตรวจสอบแรงงานเถื่อน 5 แสนราย เดินทางเข้าประเทศ แต่ไม่แจ้งขอใบอนุญาตทำงาน

วันนี้ (5 มี.ค.) นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประกาศจะชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 มีนาคม 2553 นี้ โดยจะมีการนำแรงงานต่างด้าวไปร่วมการชุมนุมด้วยนั้น โดยเชื่อว่า เป็นเพียงกระแสข่าวลือเช่นครั้งที่ผ่านมา อีกทั้งกระทรวงแรงงาน ได้กำชับกับนายจ้างที่จ้างงานแรงงานต่างด้าวแล้วว่าให้ดูแลไม่ให้แรงงานต่างด้าวออกนอกพื้นที่มิเช่นนั้นจะมีความผิด

“การที่แรงงานต่างด้าวออกนอกพื้นที่ นายจ้างต้องแจ้งกับเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน เพื่อออกเอกสารให้จึงจะสามารถออกนอกพื้นที่ได้ นอกจากนี้ การชุมนุมทางการเมือง คนไทยเท่านั้นที่จะมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ”

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า จะไม่มีแรงงานต่างด้าวออกมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างแน่นอน เพราะเจ้าหน้าที่จะเข้มงวดในการตั้งด่านตรวจยานพาหนะ อาวุธ บัตรประชาชน และทะเบียนรถยนต์ที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้มีแรงงานต่างด้าว หรือการขนอาวุธ เข้ามาในพื้นที่การชุมนุม

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน กำลังรวบรวมยอดแรงงานต่างด้าวที่ไปขึ้นทะเบียนกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กว่า 1.3 ล้านคน เพื่อตรวจสอบว่า ยอดที่แท้จริงมีจำนวนเท่าใดที่ยังไม่มาขอใบอนุญาตทำงาน และแจ้งความจำนงขอพิสูจน์สัญชาติ กับกรมการจัดหางาน เนื่องจากยอดคนต่างด้าวที่มาขอใบอนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางานหายไปกว่า 500,000 คน จากยอดที่แจ้งไว้กับกรมการปกครอง หากตรวจสอบแล้วมีจำนวนมากพอ คณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) อาจจะขยายเวลาให้นายจ้างพาแรงงานต่างด้าวเหล่านั้นมาขอใบอนุญาตทำงาน และแจ้งความจำนงพิสูจน์สัญชาติ

นายไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า สำหรับนายจ้างที่ยังขาดความเข้าใจเรื่องการขอใบอนุญาตทำงานและการพิสูจน์สัญชาติของแรงงานต่างด้าว จนพ้นกำหนดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมา ก็ให้แจ้งยอดมาที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เพื่อรักษาสิทธิ์ในการครอบครองแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่เดิม หาก กบร.พิจารณาแล้วเห็นว่าควรขยายเวลาให้กับแรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าว นายจ้างก็สามารถพามาแจ้งที่กรมการจัดหางานได้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้กับแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่เดิมในประเทศเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น