"ไตรรงค์" ยันไม่เปลี่ยนกลับมาใช้นโยบายรับจำนำข้าว แต่อาจปรับระบบประกันราคา นัดถกโรงสี-รมต.พาณิชย์ วันนี้ เพื่อช่วยเพิ่มจุดรับซื้อ หากโรงสีที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ ไม่พอรับซื้อ โดยจะต้องรับซื้อตามราคาประกัน และความชื้นที่รัฐบาลกำหนด พร้อมประชุมหารือ กขช.หามาตรการแก้ปัญหา "ปลัดพวงยาน" สั่งเปิดอีก 30 จุด ขณะที่ พุ่งเป้า 9 จังหวัด พื้นที่ปัญหา
นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงกรณีที่มีการรายงานข่าวโจมตีว่า รัฐบาลไม่สนใจดูแลชาวนาที่เดินทางมายื่นหนังสือเรียกร้องให้กลับมาใช้ระบบจำนำข้าวที่ทำเนียบรัฐบาล วานนี้ โดยระบุว่า รัฐบาลยืนยันการใช้นโยบายการรับประกันราคาพืชผลเกษตร และจะไม่กลับมาใช้นโยบายรับจำนำข้าวตามที่ชาวนาร้องขอ แต่อาจจะมีการปรับปรุงระบบการประกันราคา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้ตามเป้าหมาย
โดยในวันนี้ รัฐบาลจะหารือกับนายกสมาคมโรงสีข้าวเพื่อช่วยเพิ่มจุดรับซื้อ หากโรงสีที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ไม่พอรับซื้อ โดยจะต้องรับซื้อตามราคาประกัน และความชื้นที่รัฐบาลกำหนด
"ผมจะไปตรวจสอบข้อมูลการตั้งโต๊ะรับซื้อ ที่มีชาวนาบ่นว่าไม่เพียงพอ พร้อมกับหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งถ้าพบว่าไม่พอ อาจจะเสนอให้สมาคมโรงสีข้าวเพิ่มโต๊ะรับซื้อให้ครบจุด และหากโรงสีที่เข้าร่วมโครงการไม่เพียงพอ ผมก็จะจัดการโดยให้โรงสีที่อยู่นอกบัญชีมาช่วยรับซื้อในราคาประกันตามความชื้น"
นอกจากนี้ จะหารือกับนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแก้ปัญหาการระบายสต๊อกข้าวของรัฐ และจะหารือกับนายกรัฐมนตรีที่มอบหมายให้เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เพื่อหามาตรการแก้ปัญหาด้วย
ด้านนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ดำเนินการเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกนาปรังในเขตพื้นที่ภาคกลาง เป็นการเร่งด่วน โดยจะตั้งโต๊ะรับซื้อใน 9 จังหวัด 21 โรงสี อาทิ สุพรรณบุรี ชัยนาท สุโขทัย พิษณุโลก นครปฐม นครสวรรค์ พิจิตรและ นนทบุรี
โดยเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวสามารถนำข้าวเปลือกมาขายตามจุดที่กระทรวงพาณิชย์รับซื้อ โดยข้าวเปลือกจะต้องมีความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ราคาอยู่ที่ 9,074 บาทต่อตัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ จะสามารถเปิดจุดรับซื้อ ในเขตพื้นที่ต่างๆ ได้มากกว่า 30 จุด
ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถนำข้าวเปลือกไปขายตามจุดต่างๆ ได้ แม้ว่า ยังไม่ได้รับรองการผ่านประชาคม แต่หากขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็สามารถนำข้าวเปลือกไปขายได้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ จะมีเจ้าหน้าที่ไว้ตามจุด เพื่อดูเรื่องความชื้นและปริมาณ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรขายข้าวได้ราคาดี
นอกจากนี้ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนแล้ว และจะนำข้าวเข้าร่วมโครงการประกันรายได้รอบ 2 ก็สามารถมารับเงินประกันรายได้ ในจำนวน 926 ต่อตัน โดยรายละไม่เกิน 25 ตัน