xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ได้โม้! ขอลงทุนสูงสุดรอบ 40 ปี บีโอไอสรุปยอดปี 52 ทะลุ 7 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญหามาบตาพุด เศรษฐกิจโลกตกต่ำ หาใช่อุปสรรค “บีโอไอ” กางตัวเลขการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 2552 มูลค่าทะลุ 7.2 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบกว่า 40 ปี เป็นงงเดือนสุดท้ายแห่ยื่นกว่าแสนล้านบาท เหตุสิ้นสุดสิทธิประโยชน์ตามปีแห่งการลงทุนที่ให้ 6 กลุ่มกิจการ ทำให้เร่งมาขอล่วงหน้า อุตฯ ยันตัวเลขของจริงไม่มีโม้ สั่งบีโอไอศึกษารีวิวแพคเกจใหม่

นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอได้สรุปภาวะการลงทุนในปี 2552 พบว่ามีนักลงทุนเข้ามายื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอทั้งสิ้น 1,573 โครงการรวมมูลค่า 723,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการลงทุน เพราะถือว่ามูลค่าการลงทุนสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีปัจจัยที่สามารถดึงดูดการลงทุนได้ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในช่วงชะลอตัว และไทยอยู่ในช่วงการแก้ไขปัญหามาบตาพุดก็ตาม

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งได้มีการเข้ามายื่นขอรับส่งเสริมฯ โดยเฉพาะช่วงสิ้นปีค่อนข้างมาก เนื่องจากปี 2551-2552 เป็นปีแห่งการส่งเสริมการลงทุน จึงมีการให้สิทธิประโยชน์พิเศษแก่ 6 กลุ่มกิจการ ดังนั้นเมื่อจะสิ้นสุดในปลายปี 2552 ทำให้กิจการจำนวนมากเร่งมายื่นขอไว้ล่วงหน้าเพื่อขอใช้สิทธิพิเศษดังกล่าว โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานทดแทน จึงทำให้เงินลงทุนของโครงการที่ขอรับส่งเสริมในปี 2552 สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตอนช่วงต้นปีที่ 400,000 ล้านบาท ถึง 323,400 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้าหมาย 80%

สำหรับอุตสาหกรรมที่มีความสนใจจะเข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด คือ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค จำนวน 709 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 430,800 ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 219 โครงการ มูลค่า 100,900 ล้านบาท อันดับ 3 คือ อุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร จำนวน 212 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 66,800 ล้านบาท ส่วนใหญ่มีความสนใจจะลงทุนในกิจการผลิตพลังงานทดแทนจากพืช เช่น เอทานอล และไบโอดีเซล กิจการผลิตอาหารสำเร็จรูป และอาหารแปรรูป และอันดับ 4 คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วน เครื่องจักร และโลหะจำนวน 217 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 55,500 ล้านบาท

สำหรับตัวอย่างโครงการขนาดใหญ่ที่ยื่นขอรับส่งเสริมหลังวันที่ 21 ธ.ค. ซึ่งเคยออกข่าวไปว่ามีมูลค่าเงินลงทุน 5.7 แสนล้าน อาทิ กิจการผลิต HDD 1.36 หมื่นล้านบาท กิจการผลิตชิ้นส่วน HDD 1.06 หมื่นล้านบาท กิจการผลิตชิ้นส่วน HDD 4.1 พันล้าน กิจการผลิตแผงวงจรรวม 6.3 พันล้านบาท กิจการผลิต กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม 5 โครงการ รวมมูลค่าประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 7 โครงการ รวมมูลค่าประมาณ 1.36 หมื่นล้านบาท และการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 1 โครงการ 5.1 พันล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีกิจการขนาดใหญ่อื่นๆ คือ การผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน 1.5 พันล้านบาท การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 3.2 พันล้านบาท การผลิตเอทานอล 2 โครงการมูลค่า 5.8 พันล้านบาท เป็นต้น

นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตัวเลขการลงทุนดังกล่าวเป็นของจริง แต่ยอมรับว่าเป็นเพียงการยื่นขอฯ ยังไม่ได้เป็นการลงทุนจริงแต่อย่างใด โดยการขอยื่นลงทุนมากระจุกตัวช่วงเดือนสุดท้ายที่มีกว่าแสนล้านบาท เพราะมาตรการสิทธิประโยชน์ของปีแห่งการลงทุน จึงได้มอบหมายให้บีโอไอไปทบทวนสิทธิประโยชน์ดังกล่าวว่าประเภทกิจการใดใน 6 กิจการควรจะต่ออายุหรือไม่อย่างไร หรืออาจจะเพิ่มประเภทกิจการใหม่หรือไม่ รวมถึงการปรับเป้าหมายการลงทุนปี 2553 ซึ่งบอร์ดบีโอไอจะหารือวันที่ 25 ธ.ค.นี้ ก็อาจจะนำประเด็นเหล่านี้ไปหารืออีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น