xs
xsm
sm
md
lg

ชง4กฎเหล็กล้างทัวร์นอกรีต ปัดฝุ่นปรับเพิ่มวงเงินค้ำประกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชง 4 ประเด็นเข้าบอร์ดธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ก่อนประกาศเป็นกฎกระทรวงใช้บังคับบริษัททัวร์ต้องรายงานทุกข้อมูลการค้าให้ สพท.รับทราบ แก้ปัญหาบริษัททัวร์นอกรีดที่เลี่ยงไม่ต่อใบอนุญาตประจำปี พร้อมปัดฝุ่นหาข้อยุติกรณีเพิ่มวงเงินค้ำประกัน เพื่อคุ้มครองลูกค้าผู้ซื้อทัวร์ ขณะที่ สพท.ใช้ระบบอีเล็กทรอนิคส่งSMSและอีเมล์แจ้งเตือนเอกชนต่อใบอนุญาต

แหล่งข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ได้ร่างกฎกระทรวง ตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ สำหรับใช้บังคับให้บริษัทนำเที่ยวต้องปฎิบัติตาม ใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การตรวจสอบบริษัทนำเที่ยวว่ามีคดีความติดค้างอยู่หรือไม่ 2.บริษัทนำเที่ยวมีเรื่องการร้องเรียนเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจหรือไม่
3.บริษัทนำเที่ยวยังมีความจำเป็นในการให้บริการนักท่องเที่ยวครบหมดแล้วหรือยังในกรณีที่จะขอบอกเลิกกิจการ ถ้ายังมีลูกค้าซื้อแพกเกจทัวร์ติดค้างอยู่ก็ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนจึงจะจดทะเบียนขอยกเลิกกิจการได้ และ 4. ให้บริษัทนำเที่ยวทุกรายที่มีการขายล่วงหน้าต้องรายงานข้อมูลการขายต่อสำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ให้ครบถ้วน เพื่อใช้เป็นข้อมูลตรวจสอบหากบริษัทนำเที่ยวนั้นๆต้องการขอจดทะเบียนเลิกกิจการ จะได้ตรวจสอบได้ว่ามีลูกค้าติดค้างที่รอรับบริการอยู่หรือไม่

***ชง 4 ประเด็นเข้าบอร์ดแก้ปัญหาทัวร์เถื่อน****

โดยทั้งหมดที่กล่าวมาจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ซึ่งมี น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน ให้พิจารณาเห็นชอบก่อนประกาศเป็นกฎกระทรวงใช้อย่างเป็นทางการ คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ภายในไตรมาสแรกปีนี้

นอกจากนั้นจะนำกรณีที่น.ส.ฐิตารีย์ ปิณฑชัยวัฒน์ ซื้อทัวร์จากบริษัทเซาเธิร์น พลัส เทรเวล จำกัด ที่มาออกบูธในงานส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งจัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 ส.ค.52 แล้วปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวได้ปิดกิจการไปแล้วเมื่อวันที่ 29 ต.ค.52 ทำให้ลูกค้าผู้ซื้อไม่สามารถเข้าใช้บริการในแพกเกจทัวร์ที่ซื้อไว้ได้
เข้าหารือในที่ประชุมบอร์ดธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ในครั้งนี้ด้วย เพื่อหาแนวทางการแก้ไขร่วมกัน

***ปัดฝุ่นแนวคิดเพิ่มวงเงินค้ำประกัน****

โดยจะเสนอให้มีการฟื้นแนวคิดเรื่องการเพิ่มวงเงินค่าค้ำประกันจากบริษัทนำเที่ยววที่เข้ามาจดทะเบียน จากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ 4 อัตราได้แก่ บริษัทนำเที่ยวเฉพาะพื้นที่ วงเงิน 10,000 บาท บริษัทนำเที่ยวภายในประเทศ(โดเมสติก) วงเงิน 50,000 บาท บริษัทนำเที่ยวที่นำคนไทยไปต่างประเทศ(เอาต์บาวนด์) 200,000 บาท และ
บริษัทนำเที่ยวที่นำชาวต่างประเทศเข้ามาเที่ยวประเทศไทย(อินบาวนด์) 100,000 บาท

เนื่องจากวงเงินค้ำประกันนี้จัดเก็บเพื่อไว้ชดเชยให้แก่ลูกค้าในกรณีที่บริษัทนำเที่ยวไม่สามารถให้บริการได้ตามสัญญา โดยภาครัฐมองว่าเป็นวงเงินที่น้อยเกินไปไม่สมเหตุสมผลกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ภาคเอกชนก็เรียกร้องว่าหากจัดเก็บมากจะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถจดทะเบียนได้

*** ทำโครงการส่งSMSเตือนความจำ****

อย่างไรก็ตาม กรณีของ น.ส.ฐิตารีย์ นายชุมพล ศิลปะอาชา รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวฯได้สั่งการให้ ททท.เป็นผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้ ขณะที่ สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว(สพท.) ได้แจ้งความคดีอาญา ต่อบริษัท เซาเธิร์น พลัส เทรเวล จำกัด เพราะสืบทราบว่าภายหลังที่ใบประกอบธุรกิจของบริษัทดังกล่าวหมดอายุ ไปแล้ว ยังได้มาร่วมออกงาน มหัศจรรย์เที่ยวไทย 2552 ระหว่างวันที่ 4-6 ธ.ค.52 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จึงถือเป็นบริษัทนำเที่ยวเถื่อนซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากสำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เตรียมใช้งบประมาณ 1.9 ล้านบาท จัดทำโครงการเตือนความจำให้แก่ผู้ประกอบการนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ให้มาต่ออายุก่อนใบประกอบอาชีพหมดอายุ รูปแบบคือจะมีการส่งข้อความSMS หรืออีเมลล์ ตรงถึงบริษัทนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ที่จะหมดอายุสัญญาให้มาเสียค่าธรรมเนียมรายปีเพื่อต่ออายุ ขณะนี้ได้ร่างเงื่อนไขการประมูล(ทีโออาร์) เพื่อเปิดรับบริษัทเอกชนที่สนใจเข้ามาประมูลตามวิธีจัดซื้อจัดจ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น