xs
xsm
sm
md
lg

เผย Top 10 สินค้ามาแรง-เจาะกำลังซื้อใหม่ หลังวิกฤต ศก.โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอ็กซิมแบงก์ เผยรายงาน Top 10 สินค้ามาแรง หลังวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภค กำลังซื้อที่หดตัวลง และไลฟ์สไตล์ครอบครัวที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อการใช้สินค้าในชีวิตประจำวัน รวมถึงเกณฑ์ในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งต่อจากนี้ไป ไม่ใช่ถูกกำหนดโดยราคาเพียงอย่างเดียว แนะส่งออกศึกษารูปแบบตลาดส่งออกให้ชัดเจน ก่อนเปิดเกมลุย

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เผยรายงาน Top 10 สินค้ามาแรงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ โดยระบุว่า ภายหลังเศรษฐกิจโลกที่หดตัวในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ส่งผลให้พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยเปลี่ยนแปลงไป โดยพบว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น การซื้อบ้านหลังที่สองและสินค้าแฟชั่นลดลง รวมทั้งนิยมหาความสุขความบันเทิง อาทิ รับประทานอาหาร ดูหนังฟังเพลง และออกกำลังกายที่บ้านมากขึ้นแทนการไปทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้าน เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม หลังจากผู้บริโภคผ่านประสบการณ์ในการใช้จ่ายทั้งในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูและช่วงซบเซาอย่างหนักมาแล้ว และหากเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวขึ้นรอบใหม่ ก็มีความเป็นไปได้ว่า ผู้บริโภคจะคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากปัจจัยด้านราคามาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ

สำหรับแนวโน้มหรือเทรนด์สินค้าที่คาดว่าจะได้รับความนิยม และมาแรงในตลาดการค้าโลกหลังวิกฤตเศรษฐกิจ มีดังนี้

1. สินค้าอเนกประสงค์ (All-in-One) ผู้บริโภคมีแนวโน้มคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยของสินค้าที่ต้องมีคุณสมบัติในการทำงานได้หลากหลายในสินค้าเดียว เช่น โทรศัพท์มือถือที่ไม่เป็นเพียงเครื่องมือติดต่อสื่อสารเท่านั้น แต่ยังต้องสามารถใช้เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา กล้องถ่ายรูปและเครื่องเสียงไปพร้อมๆ กัน เพื่อตอบสนองรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้ แม้คุณสมบัติที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้สินค้ามีราคาแพงกว่าสินค้าทั่วไป แต่ด้วยประโยชน์ใช้สอยที่หลากหลายจะช่วยดึงดูดให้ผู้บริโภคเห็นถึงความคุ้มค่าของเงินที่เสียไปเพื่อแลกกับความครบครันและความสะดวกสบายที่จะได้รับ

2. สินค้าที่มุ่งตอบสนองความพึงพอใจส่วนบุคคล โดยเฉพาะสินค้าที่ผู้บริโภคสามารถประกอบได้เอง(Do It Yourself : DIY) ซึ่งนอกจากเป็นสินค้าจำพวกเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ภายในบ้านแล้ว ยังรวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องประดับประกอบเองได้ เพราะผู้บริโภคแต่ละคนสามารถออกแบบหรือเลือกวัสดุที่นำมาประกอบ รวมถึงสามารถตกแต่งสีสันของผลิตภัณฑ์ได้ตามใจชอบ ทำให้มีรูปแบบไม่ซ้ำใคร นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและเป็นการเปลี่ยนปัจจัยการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคจากราคามาเป็นความพึงพอใจเฉพาะของแต่ละบุคคล

3. สินค้าย้อนอดีตที่ผสมผสานความทันสมัย (Retro Nova) ยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความไฮเทคของเทคโนโลยีท่ามกลางกระแสที่ผู้คนเริ่มหันกลับมาให้ความสำคัญกับความคลาสสิกของอดีต ทำให้เกิดการผลิตสินค้าในลักษณะ Retro Nova ขึ้น สินค้าดังกล่าวสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งในเรื่องการนำเทคโนโลยีทันสมัยที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการใช้สอยควบคู่ไปกับการสร้างความสุขทางด้านจิตใจผ่านการย้อนมองภาพในอดีต เช่น นาฬิกาที่มีรูปลักษณ์ย้อนยุคแต่กลไกเป็นไมโครชิพที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องเสียงที่เลียนแบบวิทยุโบราณแต่มีฟังก์ชันการใช้งานครบครันเป็นต้น

4. สินค้าที่ทำด้วยมือ (Handmade) คาดว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบันทำให้สินค้าที่ผลิตได้แทบไม่มีความแตกต่างกัน (Homogeneous) ขณะที่สินค้า Handmade สามารถสร้างจุดขายจากความแตกต่างและการมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้มากกว่าสินค้าที่ผลิตครั้งละจำนวนมาก

5. สินค้าที่เน้นการออกแบบและบรรจุภัณฑ์ (Design & Packaging) แม้ผู้บริโภคคำนึงถึงคุณค่าและประโยชน์ใช้สอยของผลิตภัณฑ์เป็นสำคัญ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งแรกที่ดึงดูดใจผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อสินค้าคือรูปลักษณ์ภายนอกและบรรจุภัณฑ์ของสินค้า ซึ่งมีส่วนทำให้ผู้บริโภคลดความสนใจในปัจจัยด้านราคาและคุณภาพลงแต่หันมาให้ความสนใจกับสิ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการด้านจิตใจของตนเองมากขึ้น

6. สินค้าที่ปฏิบัติอย่างเป็นธรรม (Fair Trade) ในกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน แนวคิดนี้เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นหลังจากองค์กร Fairtrade Labelling Organizations International (FLO) ได้นำฉลาก Fair Trade มาใช้อย่างแพร่หลายเมื่อปี 2545 เพื่อแสดงให้เห็นว่าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้านั้นซื้อจากเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาด้วยราคาที่เป็นธรรม ไม่มีการกดขี่แรงงาน ไม่ใช้แรงงานเด็กและสนับสนุนให้มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้น ปัจจุบันมีสินค้าที่ได้รับการรับรอง Fair Trade ทั่วโลกแล้วกว่า 4,500 รายการในหลายกลุ่มสินค้า ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร อาทิ กาแฟ โกโก้ กล้วย น้ำตาล ฝ้าย น้ำผึ้งและดอกไม้ เป็นต้น นอกจากนี้คาดว่าผู้บริโภคโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วจะนำประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ(Corporate Social Responsibility : CSR) มาเป็นปัจจัยประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการมากขึ้น จากปัจจุบันที่พบว่าชาวยุโรปราว 1 ใน 5 ยินดีจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม

7. สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Product) ผู้บริโภคจะพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมากขึ้นในการเลือกซื้อสินค้าที่ใส่ใจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในกระบวนการผลิต ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสามารถย่อยสลายหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมทั้งให้ความสำคัญกับสัญลักษณ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ISO 14000, Carbon Footprint, Eco-labeling and Packaging ของผลิตภัณฑ์ควบคู่ไปด้วย

8. สินค้าพร้อมรับประทาน (Ready-to-Eat) วิถีการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบและชั่วโมงทำงานที่มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว มีความหลากหลายและอร่อย ทำให้ตลาดอาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารพร้อมปรุงและอาหารพร้อมรับประทานได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งแนวโน้มนี้จะขยายไปยังประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นเป็นลำดับ

9. สินค้าเพื่อสุขภาพ (Organic & Functional Food) ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บและโรคระบาดที่รุนแรงขึ้นทำให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ (Organic Food) ที่ผลิตโดยไม่ใช้สารเคมีรวมทั้งตลาดอาหารและเครื่องดื่มซึ่งมีส่วนผสมที่ช่วยบำรุงร่างกาย (Functional Food) เช่น สารอาหารต่างๆ สารที่ช่วยควบคุมน้ำหนัก ลดความเครียด บำรุงสมองหรือช่วยในการนอนหลับได้รับความนิยมและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

10. สินค้าที่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) สวัสดิภาพสัตว์เป็นประเด็นที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรปที่เชื่อว่าการดูแลให้สัตว์มีสวัสดิภาพที่ดีจะส่งผลให้สินค้าอาหารที่ผลิตได้มีคุณภาพดีตามไปด้วย ทั้งนี้ สินค้าอาหารที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบที่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์จะต้องผ่านมาตรฐานกรรมวิธีการผลิตขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ ตั้งแต่วิธีการเลี้ยงที่ต้องไม่แออัด การขนส่งและการฆ่าที่ต้องไม่ให้สัตว์ทรมานและไม่ให้สัตว์เกิดความตื่นตระหนก รวมถึงการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะบางรายการผสมในอาหารสัตว์เป็นต้น

ทั้งนี้ ผลจากความต้องการสินค้าและบริการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามพฤติกรรมการบริโภคที่ปรับเปลี่ยนไปและวัฏจักรเศรษฐกิจ พบว่าผู้บริโภคมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวในการเลือกซื้อสินค้า โดยพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบนอกเหนือจากปัจจัยด้านราคา ประเด็นนี้อาจมองได้ว่าเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสในเวลาเดียวกัน

ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในสินค้าที่ตนเองส่งออกอย่างใกล้ชิดรวมทั้งวางกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่งในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงจุด
กำลังโหลดความคิดเห็น