xs
xsm
sm
md
lg

“ช้าง”ปรับใหญ่หลังยอดร่วง ทุ่ม300ล.รีแบรนด์รอบ15ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไทยเบฟฯ ปรับตัวครั้งใหญ่โหมโฟกัส 3 มิติ “องค์กร-สินค้า-คู่ค้า” รับโลกดิจิตอลสร้างผลกระทบธุรกิจ ชูวิชั่นเจ้าสัวน้ำเมา “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ขยายเครื่องดื่มทุกประเภท ทุ่มกว่า 300 ล้านบาท รีแบรนด์เบียร์ช้างรอบ 15 ปี ลั่นทวงบัลลังก์เบียร์สิงห์ 2 ปี เป้ากวาดแชร์จาก 35% เป็น 40-42% ด้านวงการเบียร์ ชี้ ช้างอ่อนสร้างแบรนด์ใช้กลยุทธ์ใต้ดินขายพ่วงจุดพลาด

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ช้าง เปิดเผยว่า จากนโยบายของนาย “เจริญ สิริวัฒนภักดี” วางวิสัยทัศน์ต้องการสร้างศักยภาพธุรกิจคนไทยทัดเทียมกับต่างประเทศ ดังนั้นบริษัทจึงได้ปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงในยุคของโลกดิจิตอล ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ ภายใต้ 3 มิติ คือ 1.องค์กร มุ่งเน้นการบริหารเป็นองค์กรมืออาชีพ มีประสิทธิภาพ 2.สินค้า เน้นผลักดันสินค้าให้มีคุณค่าและมูลค่า และ 3.คู่ค้า มุ่งขยายตลาดส่งออกเพื่อสร้างการเติบโตรายได้ของบริษัท และสร้างตราสินค้าไทยสู่เวทีโลก และสร้างความสัมพันธ์กับคู่ค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศ

โดยแนวทาง ต้องการสร้างรากฐานธุรกิจไทยเบฟฯให้มั่นคง เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ ก้าวสู่การขยายธุรกิจเครื่องดื่มทุกประเภท โดยนำสินค้าเกษตรมาพัฒนา อาทิ น้ำผลไม้เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีความแข็งแกร่ง พร้อมกับย้ำว่าการเทคโอเวอร์ธุรกิจไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุด

***รีแบรนด์ช้างรอบ15ปีทวงแชมป์***
นายฐาปน กล่าวถึงนโยบายการตลาดเบียร์ช้าง วางเป้าหมายทวงตำแหน่งผู้นำตลาดใน 2 ปีข้างหน้านี้ หวังส่วนแบ่งเพิ่มเป็น 40-42% จากมูลค่าตลาดเบียร์โดยรวม หลังจากก่อนหน้านี้เบียร์ช้างเปิดตัวเมื่อปี 2538 และขึ้นเป็นผู้นำตลาดในช่วงเวลา 5 ปี กระทั่งปี 2545-2546 เบียร์ช้างมีส่วนแบ่งสูงสุดถึง 70% แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เบียร์ช้างเพลี่ยงพล้ำให้กับเบียร์สิงห์ ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่ง 47-48% ส่งผลให้สูญเสียตำแหน่งผู้นำตลาดและปัจจุบันมีส่วนแบ่งเพียง 35% จากมูลค่าตลาดเบียร์กว่า 1 แสนล้านบาท

ล่าสุดทุ่มงบกว่า 300 ล้านบาท รีแบรนด์ “เบียร์ช้าง” ครั้งแรกในรอบ 15 ปี โดยได้ปรับภาพลักษณ์ของเบียร์ช้างและวางตำแหน่งการตลาดให้มีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งโลโก้และบรรจุภัณฑ์ใหม่ ภายใต้แคมเปญ “คนไทยหัวใจช้าง” และ “คนไทยให้กันได้” จากปัจจุบันเบียร์ช้างมีด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ เบียร์ช้างคลาสสิก บรรจุภัณฑ์สีทอง หลังจากเปิดตัวเมื่อปี 2538 วางตำแหน่งเป็นเบียร์มีปริมาณดีกรีแอลกอฮอล์ 8% กระทั่งปัจจุบันดีกรีแอลกอฮอล์เหลือ 6.4% รับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ส่วนเบียร์ช้างดราฟท์ หรือเบียร์สดบรรจุขวด มีดีกรีแอลกอฮอล์ 5% และมีบรรจุภัณฑ์สีเงิน และเบียร์ช้างไลท์ มีดีกรี 4.2% บรรจุภัณฑ์สีเขียว ลงในเซกเมนต์ไลท์เบียร์ เพื่อตอบโจทย์แต่ละกลุ่มเป้าหมายได้ตรง

สำหรับในระยะ 3 เดือน ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นบริษัทได้ดำเนินการตลาดอย่างครบวงจร จัดประชุมเอเยนต์เบียร์ช้าง วันที่ 1-2 ตุลาคม นี้

ด้านภาพรวมตลาดเบียร์ในเชิงปริมาณ 1,800-2,000 ล้านลิตร ปีนี้ตลาดหดตัว10% โดยเชื่อว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคยังมีดี แต่เพราะมาตรการจากทางภาครัฐที่ไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการสับสน และยังกระทบต่อตัวแทนจำหน่าย และร้านค้าต่างๆ

ขณะที่การทำตลาดต่างประเทศ ขณะนี้มีสัดส่วนรายได้ 5-6% จากรายได้รวม โดยมาจากช้างคลาสสิก เป็นหลัก ในบางประเทศมีการเติบโตเป็นตัวเลข 2-3 หลัก ซึ่งแม้ว่าปีหน้านี้เขตเปิดเสรีการค้าอาเซียน จะมีผลทำให้ภาษีลดลง 0% ในวันที่ 1 มกราคม 2553 แต่สินค้าไทยต้องเจอเทคนิคัลหรือกำแพงภาษีด้านอื่นๆ ส่งผลให้การเข้าไปทำตลาดเป็นไปได้ยากเมื่อเทียบกับประเทศไทยเปิดโอกาสให้สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดได้ง่ายมากกว่า

***ช้างเดินเกมพ่วงพลาดอ่อนสร้างแบรนด์***
แหล่งข่าวจากวงการเบียร์ กล่าวว่า สถานการณ์ในขณะนี้เบียร์ช้างมียอดขายลดลงอย่างมาก เนื่องจากการทำตลาดตั้งแต่ช่วงแรกเบียร์ช้างใช้กลยุทธ์ใต้ดิน หรือการขายพ่วง และวางราคาเบียร์ที่ถูก แต่ขาดในเรื่องของการสร้างแบรนด์ โดยพบว่าปัจจุบันมีสินค้าที่ขายพ่วงในสัดส่วนถึง 20% แต่ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป กลยุทธ์ราคาอาจไม่ได้เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักดื่มหน้าใหม่ หรือกระทั่งการผลักดันสินค้าจากการขายพ่วงทางตัวแทนจำหน่าย เพราะหากสินค้าไม่เดินก็เปรียบเสมือนกับการตบมือข้างเดียว ดังนั้นไทยเบฟฯ จึงมีการปรับตัวครั้งใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น