xs
xsm
sm
md
lg

ซีทีบีวีไทยเล็งร่วมทุนผลิต รุกขายหนังไทยอุ้มรายย่อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซีทีบีวี เปิดฉากขยายธุรกิจ เล็งร่วมทุนสร้างหนัง พร้อมขยายตลาดสู่หนังไทยด้วยการรับจัดจำหน่ายและทำตลาดเบ็ดเสร็จ ประเดิมค่ายเล็กน้องใหม่ โอเรียนทัล อายส์ ถึง 2 เรื่องซ้อน

นายรชต ธีระบุตร กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่ประจำประเทศไทย บริษัท ภาพยนตร์ โคลัมเบีย ไทรสตาร์ บัวนา วิสต้า (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ซีทีบีวี ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์สังกัดโซนี่ พิคเจอร์ส และ วอลท์ ดิสนีย์ สตูดิโอ โมชั่น พิคเจอร์ส เปิดเผยว่า บริษัทได้ขยายธุรกิจจากเดิมที่รับจัดจำหน่ายและทำตลาดให้กับหนังฮอลลีวูด และต่างประเทศเท่านั้น มาสู่การจัดจำหน่ายและทำตลาดทั้งระบบให้กับภาพยนตร์ไทยด้วย รวมไปถึงในอนาคตอาจจะมีการร่วมลงทุนกับผู้สร้างหนังในการสร้างหนังร่วมกันด้วยก็ได้ เช่น ซีทีบีวี ในบางประเทศก็มีทำแบบนี้แล้วเหมือนกัน

บริษัทจะมุ่งเน้นไปที่ค่ายหนังรายกลางและเล็กเพื่อจะช่วยกันขยายตลาดให้ เนื่องจากที่ผ่านมา มีแต่ค่ายยักษ์เท่านั้นที่สามารถทำตลาดในไทยได้เต็มที่และมีบทบาทมากกว่า เพราะความได้เปรียบทางด้านเครือข่ายและเงินทุน แต่ค่ายเล็กจะเสียเปรียบ ช่องทางน้อยกว่า ดังนั้น เท่ากับว่าเราจะเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งให้กับหนังไทยค่ายเล็กได้

อย่างไรก็ตาม นายรชต ยอมรับว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่ขยายธุรกิจนี้ ก็เพราะว่า ตลาดหนังไทยมีการเติบโตที่ดีมาตลอด แม้ว่าจะขึ้นลงบ้างก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับหน้าหนังเหมือนกับหนังฮอลลีวูดทั่วไป

ทั้งนี้ ตลาดหนังไทยมีการเติบโตที่ดี จากเดิมมีส่วนแบ่งในตลาดแค่ 10-20% เท่านั้น และก็เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆจนถึงขณะนี้มีส่วนแบ่ง 45% จากตลาดรวมที่คาดว่า จะมี 3,400 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าตลาดรวมปีนี้จะเติบโต 5% โดยครึ่งปีแรกตลาดรวมทำได้ 1,600 ล้านบาทแล้ว ซึ่งในแต่ละปีคาดว่าจะมีหนังไทยเข้าฉายเฉลี่ย 40-50 เรื่อง ส่วนหนังต่างประเทศอยู่ที่ 150 กว่าเรื่อง

“ในยุคที่เศรษฐกิจและการเมืองเป็นแบบนี้ การดูหนังถือเป็นการผ่อนคลายเครียดที่ถูกแล้วกับราคาตั๋วแค่ 100 กว่าบาท แลกกับความสุขประมาณ 2 ชั่งโมงก็คลายเครียดได้ ยังไงธุกรกิจหนังก็ยังไปได้ดี แต่ว่าคนอาจจะเลือกดูหนังมากขึ้น ต้องเป็นหนังที่เนื้อหาดี ถ่ายทำดีด้วย จึงจะขายได้”

โดยบริษัทได้เซ็นสัญญากับบริษัท โอเรียนทัล อายส์ จำกัด ในการจัดจำหน่ายหนังให้ 2 เรื่อง ในตลาดเมืองไทย คือ เรื่อง มายเบสท์บอดี้การ์ด และ เรื่อง 9 วัด โดยรับผิดชอบ ทั้งกระบวนการแบบครบวงจรตั้งแต่ รับจัดจำหน่าย เจรจาส่วนแบ่งกับโรงหนัง การตรวจสอบรายได้หนัง รวมตัวเลขรายได้ต่างๆ จากเดิมในอดีตที่เริ่มขยายตลาดส่วนของหนังไทยเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาจะทำเพียงแค่รับตรวจสอบรายได้หนังให้เท่านั้น

“ปัจจุบันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมีการพัฒนามากขึ้น ในด้านเนื้อหาของการใช้เทคโนโลยี คุณภาพในการผลิต การใช้งบประมาณการลงทุนที่เพิ่มขึ้น เนื้อหาหนังที่มีความเป็นเอกลักษณ์ เฉพาะตัว ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมสากล”

ดังนั้น โอเรียนทัล อายส์ เป็นอีกหนึ่งสตูดิโอผลิตภาพยนตร์น้องใหม่ที่เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ เขาคาดว่า หากสามารถรับจัดจำหน่ายทั้งระบบให้กับหนังไทยประมาณปีละ 2 เรื่อง น่าจะทำให้บริษัทมีรายได้ในสิ้นปีนี้ประมาณ 5% ของรายได้รวม ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าหมายได้ที่ 600 กว่าล้านบาท

สำหรับหนังของซีทีบีวีเองในปีนี้ คาดว่า จะมีเข้าฉายประมาณ 24 เรื่อง ขณะที่ปีที่แล้วมีจำนวน 16 เรื่อง และปีหน้าคาดว่าอาจจะมีมากถึง 30 เรื่อง เพราะว่ามีหนังฟอร์มยักษ์ภาคต่อหลายเรื่องที่จะเข้าฉายปีหน้าอีกมาก

นายรชต ยังให้ความเห็นกรณีของการจัดเรตติ้งภาพยนตร์ด้วยว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรกับตลาดรวม ซึ่งในต่างประเทศก็มีอยู่แล้วไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นการจัดทำเพื่อให้การดูหนังมีความเหมาะสมมากขึ้นกับแต่ละคน
กำลังโหลดความคิดเห็น