xs
xsm
sm
md
lg

3 แม่ทัพรถเห็นคล้องตลาดฟื้น-ลุ้นแก้เงื่อนไขอีโคคาร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดตัว 3 ประธานใหม่ค่ายรถยักษ์ใหญ่ “ฮอนด้า-มิตซูบิชิ-โตโยต้า” ต่างเห็นสอดคล้องตลาดรถไทยผ่านจุดต่ำสุด ครึ่งปีหลังเริ่มฟื้นตัว คาดปีนี้อยู่ในระดับ 4.8-5.0 แสนคัน แต่การส่งออกยังมีปัญหา ทำให้อาจส่งผลกระทบต่ออีโคคาร์ เตรียมหาข้อสรุปร่วม เพื่อเจรจาปรับเงื่อนไขใหม่กับบีโอไอ

ตลอด 3 วันทำงานที่ผ่านมา ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ต่างแนะนำประธานบริษัทคนใหม่อย่างเป็นทางการ พร้อมกับแถลงทิศทางตลาดรถยนต์ในช่วงครึ่งปีหลัง และปรับเป้าหมายการขายในปีนี้ รวมถึงให้ความเห็นถึงปัญหาและผลกระทบของอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทย

โดยเมื่อวานนี้ (21 ก.ค.) บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้แนะนำ นายอาซึชิ ฟูจิโมโตะ ประธานบริษัทคนใหม่ และชี้แจงถึงทิศทางตลาดรถยนต์ไทย ว่า เริ่มมีสัญญาณดีที่จะมีการกลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ฮอนด้าคาดว่าตลาดรถยนต์ไทยโดยรวมปีนี้ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.8 แสนคัน

“ทิศทางตลาดช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 6 เดือนแรกปีนี้ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เริ่มจะเห็นผลชัด และลูกค้าก็ให้การตอบรับรถรุ่นต่างๆ ของฮอนด้าดีต่อเนื่อง ทำให้ในส่วนของฮอนด้าได้ปรับเป้าการขาย จากเดิมตั้งไว้ปีนี้ 8 หมื่นคัน เพิ่มเป็น 8.4 หมื่นคัน”

นายฟูจิโมโตะ กล่าว่า แนวโน้มของตลาดในอนาคต รถยนต์ขนาดเล็กจะได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งฮอนด้าจะนำเสนอผลิตภัณฑ์หลากหลาย เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ลูกค้า รวมถึงอีโคคาร์ที่กำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนา แต่สถานการณ์ก็เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะการส่งออกที่ลดลง จากวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก

“เราจึงต้องกลับมาพิจารณา เรื่องของการผลิตและต้นทุนอย่างรอบคอบ ซึ่งปัญหาของอีโคคาร์ เชื่อว่าเป็นความหนักใจของทุกค่ายรถ ที่ขอรับส่งเสริมการลงทุน เห็นจะเป็นเงื่อนไขต้องผลิต 1 แสนคัน ในปีที่ 5 เป็นต้นไป ตรงนี้อาจจะต้องมีการพูดคุยระหว่างบริษัทรถ เพื่อหาข้อสรุปและชี้แจงกับบีโอไอ ถึงความเป็นไปได้ในการจะปรับลดลง นอกจากนี้ฮอนด้ายังมองว่า อัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่ง หรือเก๋งของไทยสูงไป แต่ฮอนด้ายังไม่มีความคิดที่จะไปเจรจาขอลดลงกับภาครัฐ”

เป็นความเห็นที่สอดคล้องกับ นายโนบุยูกิ มูราฮาชิ กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้ชี้แจงก่อนหน้านี้เพียงวันเดียวว่า ตลาดรถยนต์มีแนวโน้มฟื้นตัว และมองว่า ปีนี้น่าจะมียอดขายรวมไม่ต่ำกว่า 5 แสนคัน ซึ่งหากรัฐบาลต้องการผลักดันให้ตลาดขยายตัวมากกว่านี้ หรือสร้างให้เก๋งเป็นโปรดักซ์แชมเปียนคู่กับปิกอัพ ควรจะลดภาษีสรรพสามิตรถเก๋งลงอีก เพราะอัตราปัจจุบันถือว่าสูงกว่าต่างประเทศ และน่าจะเริ่มจากอีโคคาร์ก่อน

“ส่วนเงื่อนไขผลิต 1 แสนคันของอีโคคาร์ ถือเป็นตัวเลขที่ท้าทายในสถานการณ์ปัจจุบัน แน่นอนหากลดลงก็เห็นด้วย แต่คงต้องมาดูองค์ประกอบอีกหลายอย่าง ในส่วนของมิตซูบิชิยังดำเนินโครงการตามกรอบเวลา และยังไม่เริ่มดำเนินการในปีนี้ จึงยังมีเวลาในการหาข้อสรุป”

ขณะที่ยักษ์ใหญ่ “โตโยต้า” ซึ่งได้เปิดตัว นายเคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา และเป็นผู้จุดพลุเรื่องการปรับเงื่อนไขอีโคคาร์กล่าวว่า แนวโน้มตลาดรถไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ปีนี้น่าจะอยู่ที่ 4.8 แสนคัน แต่วิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบการส่งออกรถจากไทยมาก อาจทำให้มีผลต่อโครงการอีโคคาร์ ซึ่งไม่มั่นใจจะสามารถดำเนินงานได้ตามเงื่อนไขของบีโอไอหรือไม่

“ข้อกำหนดให้มียอดผลิต 1 แสนคัน เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาในสถานการณ์ขณะนี้ เราจึงหวังจะพูดคุยกับทางคณะกรรมการบีโอไอ เพื่อปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้ดีขึ้น โดยเร็วๆ นี้ อาจจะมีการพูดคุยกับบริษัทรถที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนอีโคคาร์ ว่าจะมีการปรับลดจำนวนการผลิตลงเท่าไหร่ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะตลาด คาดว่าประมาณปลายปีน่าจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้” นายทานาดะ กล่าว

นายสิทธิศักดิ์ เกสรวิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซูซูกิ ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ซูซูกิยังคงที่จะลงทุนในโครงการอีโคคาร์ต่อไป แม้จะชะลอแผนออกไปตามที่แจ้งแล้ว ส่วนแนวทางการดำเนินงานจะมีการควบรวมซูซูกิ ออโมบิล ประเทศไทย ไปรวมกับบริษัทใหม่ ที่จะตั้งขึ้นมารองรับการผลิตอีโคคาร์ ซึ่งบริษัทแม่ซูซูกิเป็นถือหุ้นใหญ่ คาดว่าจะมีการแถลงความชัดเจนเร็วๆ นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น