ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ผลกระทบการเมืองรุนแรง อาจทำให้จีดีพีไทยปี 52 ติดลบถึง 6% โดยไตรมาส 2 รับผลกระทบหนักสุด หดตัวมากกว่า 7% ทั้งการท่องเที่ยว และการลงทุนที่ต้องชะลอออกไป ขณะที่สถานการณ์การเมืองไทย ยังคงอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอน เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูความเชื่อมั่น และการดำเนินนโยบายช่วงครึ่งปีหลัง และยังมีโอกาสที่ความรุนแรงจะเกิดขึ้นซ้ำรอยได้อีก ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง กัดกร่อนโครงสร้าง ศก.ไทยให้อ่อนแอลง สวนทางกับประเทศเพื่อบ้าน หวั่นลงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยากจะเยียวยา
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า สืบเนื่องเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ที่ได้ลุกลามจนกลายเป็นการจลาจลและสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อภาพลักษณ์ในด้านความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประเทศไทยในสายตาชาวต่างชาติ รวมทั้งยังเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงอยู่แล้วจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยของโลก คาดว่า จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ปีนี้หดตัวลงมากกว่าร้อยละ 7.0 จากเดิมคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 3.1-3.8
ทั้งนี้ การหดตัวของเศรษฐกิจที่อาจจะสูงขึ้นในไตรมาส 2 ที่สำคัญเป็นผลจากรายได้การท่องเที่ยวของชาวต่างชาติที่ลดลง ตลอดจนเม็ดเงินสะพัดจากการใช้จ่ายของคนไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์หดหายไป นอกจากนี้ยังมีผลกระทบในด้านการลงทุนที่มีการชะลอออกไปในภาวะที่สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอน
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมตลอดทั้งปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 มีแนวโน้มที่ต่ำลงกว่าคาดการณ์เดิมอีกประมาณร้อยละ 2.0-3.0 ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้หดตัวลงประมาณร้อยละ 3.5-6.0 จากเดิมคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 1.5-3.5
ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองว่า สถานการณ์การเมืองไทยอาจจะยังคงอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอน แม้ว่าจะไม่ถึงขั้นมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น แต่ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูความเชื่อมั่นรวมถึงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในระยะเวลาที่เหลือของปี ที่ยังคงมีความเสี่ยงต่อโอกาสที่ปัจจัยทางการเมืองจะส่งผลกระทบรุนแรงกว่าที่ประมาณการไว้นี้ หากมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นซ้ำรอยอีก
ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ย้ำว่า ปัญหาทางการเมืองที่เรื้อรังมานานหลายปี กำลังค่อยๆ กัดกร่อนโครงสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจไทยลงทุกขณะ และฉุดประเทศไทยให้ถอยหลังสวนทางกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบที่กำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว หากวิกฤตทางการเมืองยังคงฝังแน่นอยู่ภายในสังคมไทยต่อไป จะกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องยาวนานต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว