xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยธุรกิจอินเทอร์เน็ตยังโต 10% สวนภาวะ ศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยผลสำรวจยอดผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต ปี 52 ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 10% ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ คาดตลาดแข่งดุ เน้นโปรโมชั่นค่าบริการนิ่ง-ความเร็วในการเชื่อสัญญาณ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานภาวะการแข่งขันในตลาดบริการอินเทอร์เน็ต ว่า ภาวะการแข่งขันในตลาดบริการอินเทอร์เน็ต ปี 2552 คาดว่า ผู้ให้บริการจะเร่งแข่งขันกันขยายตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในต่างจังหวัดมากขึ้น เนื่องจากอัตราผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ในเขตเมืองก็คาดว่าผู้ให้บริการจะยังออกโปรโมชัน และกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ รวมทั้งจะหันมาใช้กลยุทธ์แข่งขันกันพัฒนาความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น ทำให้อัตราค่าบริการเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ ในปี 2551 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของไทย มีประมาณ 15.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีประมาณ 13.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 24.3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ แม้จะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของทั่วโลก แต่เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ และ มาเลเซีย ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาก อีกทั้งส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง เนื่องจากข้อจำกัดด้านโครงข่ายและเทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งส่งผลต่อความแตกต่างในด้านความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต สำหรับในปีนี้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ปี 2552 จะมีประมาณ 17 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณร้อยละ 10 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่อประชากรเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26.6 มีปัจจัยสนับสนุนมาจากอัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ตที่ปัจจุบันอยู่ในระดับไม่สูงแล้ว ขณะที่ฐานผู้ใช้ยังอยู่ในระดับต่ำสามารถเติบโตได้อีก รวมทั้งผู้ให้บริการหลายรายยังขยายการลงทุนในโครงข่ายเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ในต่างจังหวัดมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดบริการอินเทอร์เน็ต ปี 2552 จะมีมูลค่าประมาณ 13,000-13,500 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8-10 ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 10 โดยมีปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจที่อาจบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภคลง ทำให้ในตลาดลูกค้าส่วนบุคคลจำนวนลูกค้าใหม่อาจเติบโตในระดับไม่สูงนัก อย่างไรก็ตาม ในแง่ของตลาดองค์กรคาดว่าจะยังมีแนวโน้มสดใส เนื่องจากปัจจุบันอินเทอร์เน็ตถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินธุรกิจและช่วยลดต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ตาม รวมทั้งในตลาดการศึกษาที่มีการลงทุนด้านระบบอินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาเอกชนที่ให้ความสำคัญกับระบบอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ราคาแบนด์วิดท์ในปีนี้มีแนวโน้มลดลง โดยราคาเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 7,000 บาท/Mbps/เดือน ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท/Mbps/เดือน ทำให้ต้นทุนของผู้ให้บริการมีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย ขณะที่ปัจจัยสำคัญ ที่คาดว่า จะส่งผลกระทบต่อตลาดในอีก 1-2 ปีข้างหน้า คือ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไร้สายผ่านระบบ WiMAX และโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ซึ่งหลังการเปิดให้บริการคาดว่าจะทำให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สายเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเป็นอย่างมาก รวมทั้งจะส่งผลให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยรวมสูงขึ้นตามไปด้วย รวมทั้งคาดว่าจะส่งผลต่อการแข่งขันในตลาดบริการอินเทอร์เน็ตด้วย เนื่องจากความเร็วในการให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งแบบมีสายและไร้สายจะใกล้เคียงกันมากขึ้น ภาวะการแข่งขันในตลาดจึงมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นกว่าปัจจุบัน และจะส่งผลดีต่อเนื่องมายังผู้บริโภคทั้งในแง่ของบริการและอัตราค่าใช้บริการด้วย ขณะที่นโยบายของภาครัฐควรมุ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและกระจายโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้มากขึ้น โดยเฉพาะการพิจารณาออกใบอนุญาต WiMAX และ 3G ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการใช้อินเทอร์เน็ต บรอดแบนด์ให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ควรควบคุมให้อัตราค่าบริการเป็นไปอย่างเหมาะสม และสะท้อนต้นทุนการดำเนินงานอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น