สำนักข่าวแห่งชาติ เผย 10 สุดยอดกำหนดการที่คนไทยควรติดตาม ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ในฐานะเจ้าของประเทศ ที่ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ
สำนักข่าวแห่งชาติ เผยการจัดทำรายการ 10 อันดับกำหนดการที่คนไทยควรติดตามในฐานะความเจ้าภาพในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2552 ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจัดทำโดย นายวิทวัส ศรีวิหค อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ
นายวิทวัส ได้กล่าวถึงในภาพรวม ว่า ไทยจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมากจากความร่วมมือด้านต่างๆ ของอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์จากการที่ภูมิภาคมีเสถียรภาพ และสันติภาพอันเป็นผลจากกรอบความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงของอาเซียน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเดินทางเข้ามาลงทุนและท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวอย่างบางส่วนที่ไทยจะได้รับ หลังการจัดประชุม
ทั้งนี้ 10 กำหนดการที่คนไทยควรจับตาและติดตามใกล้ชิด มีดังนี้
1.กำหนดการที่ผู้นำอาเซียน 10 ประเทศและภริยา เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ซึ่งประชาชนจะได้รับชมในรายการข่าวภาคค่ำ ในวันนั้นต่อไป
2.การถ่ายทอดสดพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 ตั้งแต่ช่วงบ่าย 2 โมงเป็นต้นไป รายการนี้พลาดไม่ได้ เพราะคนไทยจะได้รับฟังการบรรเลงเพลงประจำอาเซียน ซึ่งทีมคนไทย 3 ท่าน ได้แก่ นายกิตติคุณ สดประเสริฐ (ทำนองและเรียบเรียง) นายสำเภา ไตรอุดม (ทำนอง) และ นางพะยอม วลัยพัชรา (เนื้อร้อง) เป็นผู้ชนะเลิศในการแข่งขัน ชื่อเพลงว่า “The ASEAN Way” จะบรรเลงโดยวงดุริยางค์กองทัพเรือ พร้อมนักร้องประสานเสียงคณะใหญ่ จากนั้นจะมีการนำเสนอสารคดีชุดพิเศษเกี่ยวกับพัฒนาการของอาเซียนอย่างน่าสนใจยิ่ง ถัดมา นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะประธานอาเซียนจะกล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 และจะมีการเผยแพร่ภาพข่าวออกไปทั่วโลก
3.การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ในวันที่ 1 มีนาคม 2552 ระหว่างเวลา 08.30-11.00 น.ซึ่งงานนี้คงจะไม่มีการถ่ายทอด เนื่องจากเป็นเวทีประชุมของผู้นำเท่านั้น หลังจากนั้น จะมีการแถลงข่าวให้ทราบต่อไป ในที่ประชุมนี้นอกจากผู้นำรัฐบาลทั้ง 10 ประเทศแล้ว ก็จะมีเพียงเลขาธิการอาเซียนอีกท่านเดียวเท่านั้นที่เข้าร่วมด้วย แน่นอนว่า ผู้นำคงจะหารือกันถึงการผลักดันกฎบัตรให้มีผลเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอาเซียนมากที่สุด นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสิบก็คงจะหารือกันเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน และอาเซียนจะมีบทบาทอย่างไรในการรับมือและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ที่ลุกลามไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้
นอกจากนั้น ผู้นำอาเซียน 3 ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย จะพบกันในช่วงเช้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เพื่อหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน
4.การลงนามในปฏิญญาชะอำ-หัวหิน ว่าด้วยแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียน 2552-2558 ของผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ซึ่งจะพูดถึงแผนการจัดตั้งประชาคมการเมืองความมั่นคง แผนการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรม เป้าหมายเพื่อการลดช่องว่างการพัฒนาในหมู่ประเทศอาเซียน ตลอดจนเป้าหมายเพื่อการพัฒนาของกลุ่มประเทศอาเซียนที่สอดคล้องตามเป้าหมายแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ ที่มุ่งลดปัญหาความยากจนและส่งเสริมประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ในชั้นนี้ ไม่ได้พูดถึงแผนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจ เพราะเหตุว่า แผนนี้ได้มีการรับรองโดยผู้นำไปแล้วในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 13 ที่สิงคโปร์ปีที่แล้ว
5.งานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำอาเซียนและคณะผู้แทนที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในค่ำวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งจะมีแขกผู้มีเกียรติทั้งไทยและเทศเข้าร่วมกว่า 350 คน ในงานเลี้ยงนี้ นอกจากจากโชว์ความงดงามของพระราชนิเวศน์มฤคทายวันแล้ว ผู้นำอาเซียนและคณะจะได้รับการเลี้ยงรับรองด้วยอาหารไทยหลากชนิด รวมทั้งได้ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยในบรรยากาศริมทะเลแบบสบายๆ
6.การพบหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนภาคประชาชน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน ผู้แทนเยาวชนอาเซียน และผู้แทนภาคประชาสังคมอาเซียน เป็นการแสดงให้เห็นว่าเมื่อกฎบัตรอาเซียนได้มีผลใช้บังคับในช่วงที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน ไทยในฐานะเจ้าภาพได้เชิญให้ผู้แทนของกลุ่มได้มีโอกาสมาหารือกับผู้นำโดยตรง ซึ่งเป็นการย้ำเจตนารมณ์ที่จะให้กฎบัตรอาเซียนเพื่อประชาชนอาเซียนอย่างแท้จริง
7.การประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน 10 ประเทศ และรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ ในช่วงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งรัฐมนตรีทั้ง 10 ประเทศจะสวมหมวก 2 ใบ ใบหนึ่งในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่ในอีกใบหนึ่งในฐานะที่ประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียนซึ่งเป็นโครงสร้างใหม่ในกฎบัตรอาเซียนที่กำหนดให้มีที่ประชุมคณะมนตรีประสานงานระหว่างที่ประชุมคณะมนตรีทั้งสามประชาคม ได้แก่ ประชาคมการเมืองความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม
สำหรับการประชุมคณะมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในครั้งนี้ สอดคล้องตามเสาหลักที่ 2 เกี่ยวกับการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจ ซึ่งที่ประชุมนี้จะได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเกี่ยวกับประเด็นด้านการค้าการลงทุนและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่โลกประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ
8.ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน จะได้รับฟังรายงานฉบับแรกของคณะทำงานยกร่างกฎกติกาเกี่ยวกับกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งประเทศไทยในฐานะประธานคณะทำงานมีความตั้งใจที่จะเห็นการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนเป็นผลสำเร็จ ก่อนที่ไทยจะมอบตำแหน่งประธานอาเซียนให้กับประเทศเวียดนามในปลายปี 2552 นี้ นอกจากนี้ คณะทำงานว่าด้วย นิติฐานะของอาเซียนซึ่งก็อยู่ภายใต้การเป็นประธานของไทยเช่นเดียวกันซึ่งมีหน้าที่ยกร่างกฎกติกาทั้งหลายที่จะใช้ในการที่อาเซียนมีนิติฐานะรวมทั้งกลไกในการแก้ไขข้อพิพาทต่างๆ ก็จะได้เสนอร่างรายงานฉบับแรกต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศก็จะได้ให้ข้อคิดเห็นและมอบหมายแนวนโยบายให้คณะทำงานทั้งสองรับไปดำเนินการต่อไป
9.การพบหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้นำภาคธุรกิจ (ASEAN Business Advisory Council-ABAC) ซึ่งถือเป็นวาระประจำของการประชุมสุดยอดอาเซียนทุกครั้ง ทั้งนี้ การพบกันในช่วงเวลาเช่นนี้นับว่ามีความสำคัญมาก เพราะผู้นำภาคธุรกิจคงจะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้นำรัฐบาลอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและหารือกันเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขต่างๆ ที่ควรจะต้องทำต่อไป ผู้นำภาคธุรกิจอาเซียนที่จะเข้าร่วมหารือในระหว่างงานเลี้ยงอาหารกลางวัน
10.การถ่ายทอดสดพิธีแถลงข่าวโดยท่านนายกรัฐมนตรีของไทยในฐานะประธานอาเซียนในวันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม หลังจากการประชุมสุดยอดอาเซียนซึ่งทุกท่านจะได้รับทราบถึงผลการประชุมสุดยอดอาเซียนในประเด็นสำคัญๆ ทั้งหมด และผลการประชุมนี้ก็จะได้รับการถ่ายทอดออกไปทั่วโลก ซึ่งเชื่อมั่นว่าการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 นี้ จะประสบผลการสำเร็จ เป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคอาเซียนและประชาชนอาเซียนอย่างแท้จริง
คงต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดยอดกำหนดการทั้งหมด คนไทยจะสามารถร่วมแรงใจกันทำหน้าที่เจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ได้ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด เพราะถือ เป็นหน้า เป็นตา และเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะชาวจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่จะได้ร่วมกันปฏิบัติภารกิจประวัติศาสตร์เพื่อชาติในครั้งนี้