xs
xsm
sm
md
lg

UN เรียกร้องเพิ่มระเบียบ กำกับระบบการเงินโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สหประชาชาติออกโรงเมื่อวันอังคาร(7) เรียกร้องให้ออกกฎระเบียบกำกับดูแลตลาดการเงินโลกให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อเป็นการรับมือกับ "วิกฤตแห่งศตวรรษ" พร้อมทั้งเตือนด้วยว่านโยบายหลายอย่างที่หลายประเทศทยอยกันออกมาเพื่อจัดการกับสถานการณ์ จะทำให้เกิดภาวะเงินฝืดในระยะยาว

องค์การที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังก์ถัด) ออกมาระบุว่าตอนนี้รัฐจะต้องเพิ่มการเข้าแทรกแซงภาคการเงิน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ระบบการเงินและภาคเศรษฐกิจแท้จริง ต้องความเสียหายที่มากขึ้นไปกว่านี้

การแสดงท่าทีของอังก์ถัดครั้งนี้นับเป็นส่วนหนึ่งการวิพากษ์วิจารณ์โมเดลเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีของสหรัฐฯและอังกฤษ ที่เริ่มดังหนาหูมากขึ้นจากประเทศต่าง ๆที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินที่สั่นสะเทือนโลกอยู่ตอนนี้

"ข้อโต้แย้งซึ่งพวกที่เชื่อมั่นในโครงสร้างพื้นฐานของตลาด ใช้มาต่อกรกับผู้เสนอให้ออกระเบียบกฎเกณฑ์ควบคุมมากขึ้นนั้น มีพื้นฐานมาจากความเชื่อที่ว่าวินัยของตลาดเพียงอย่างเดียว ก็สามารถที่จะควบคุมพฤติกรรมของธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆให้อยู่กับร่องกับรอยได้แล้ว ทว่าข้อโต้แย้งเช่นนี้กำลังได้รับการพิสูจน์จากวิกฤตการเงินครั้งนี้ ว่าไม่มีความน่าเชื่อถือเลย" อังก์ถัดกล่าวในการบรรยายสรุปเชิงนโยบายที่นครเจนีวาเมื่อวันอังคาร

อังก์ถัดยังได้นำเสนอหนทางในเชิงกฎระเบียบกำกับดูแล เพื่อช่วยแก้ไขวิกฤตการเงินทั่วโลกคราวนี้เอาไว้ดังนี้:

---ประเมินบทบาทของหน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือเสียใหม่ เพราะเท่าที่ผ่านมาทำให้เกิดความเคลือบแคลงในตลาดการเงินมากกว่าจะเกิดความโปร่งใส

---สร้างแรงจูงใจที่จะทำให้ใช้เครื่องมือการเงินประเภทง่ายๆ กันให้มากขึ้น ยุติท่าทีของผู้คุ้มกฏที่ทำให้เกิดความโน้มเอียงในทางนิยมเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งทั้งซับซ้อนทั้งไม่ค่อยมีใครเข้าใจเท่าไรนัก

---แก้ไขปัญหาการจับคู่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ผิดพลาดของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ที่มักจะเข้าไปในตลาดระยะสั้นเพื่อระดมเม็ดเงินมาจ่ายภาระผูกพันระยะยาว

---จำกัดการเสื่อมคุณภาพของสินเชื่อมที่เชื่อมโยงกับตราสารที่เกิดจากการแปรสินเชื่อดังกล่าว ทั้งนี้เพราะพวกธนาคารมักมุ่งขายสินเชื่อของตนเองหรือตราสารที่เกิดจากแปลงสินเชื่อให้เป็นทุน ออกไปให้ได้รวดเร็ว จึงไม่สนใจติดตามเรื่องคุณภาพของผู้กู้ยืม แต่พอผู้กู้ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ ทำให้ตราสารแปลงหนี้เป็นทุนนั้นลดมูลค่าลงอย่างมาก กระทั่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการล้มละลายของธนาคารให้เพิ่มมากขึ้นหลายเท่า สำหรับทางออกในเรื่องนี้ประการหนึ่ง ก็คือ กำหนดให้ธนาคารยังต้องเก็บส่วนหนึ่งของสินเชื่อที่ตนปล่อยออกไปนี้เเอาไว้ในบัญชีของพวกตน

นอกจากนี้ อังก์ถัดยังกล่าวอีกว่าการออกนโยบายต่าง ๆของหลายๆ รัฐบาลเพื่อตอบสนองกับปัญหาที่เกิดขึ้นเวลานี้ อยู่ในลักษณะที่สร้างความสับสนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศนั้น อยู่ในทิศทางที่ตรงข้าม จนบางแง่อาจใช้คำว่าขัดแย้งได้ กับความพยายามของประเทศใหญ่รายอื่น ๆ

เป็นต้นว่า ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)แม้ว่าอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ แต่ก็ยังใช้นโยบายการเงินแบบไม่ผ่อนคลาย รวมทั้งพยายามเชื่อมโยงนโยบายทางการเงินเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเงื่อนไขต่าง ๆของสหภาพยุโรปที่จะนำไปสู่การมีเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

อังก์ถัดยังได้กล่าวอีกว่า ผู้กำหนดนโยบายทั้งหลายไม่สามารถที่จะจับทิศทางและรับมือกับการเติบโตของกระบวนการกู้ยืมเงินความเสี่ยงสูงในแบบคานดีดในสหรัฐฯที่เพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆในช่วงที่ผ่านมา โดยผ่านการลดสินทรัพย์ที่มีปัญหารวมทั้งการลดปริมาณหนี้ ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลง และพฤติกรรมของชาวอเมริกันที่คาดเดาไม่ได้ "ปัจจัยต่าง ๆเหล่านั้นมีผลต่อนัยในเชิงลบของอนาคตของภาพรวมเศรษฐกิจโลก" อังก์ถัดกล่าว

ทางด้านเลขาธิการสหประชาชาติ บันคีมูน กล่าวว่าวิกฤตการเงินไม่ควรจะที่ส่งผลจนกระทั่งทำให้คำมั่นที่ประเทศต่าง ๆให้ไว้ร่วมกันว่าจะลดความยากจนรวมทั้งลดช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวยและยากจนลงมาให้เหลือน้อยที่สุด

"แม้ว่าสถานการณ์จะร้ายแรงเพียงใด แต่ว่าไม่ว่าช้าหรือเร็ว วิกฤตการเงินก็ต้องถูกสยบลงได้" บันกล่าวกับนักข่าวที่สำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก "เราจะต้องเน้นความจำเป็นที่จะต้อง "รับประกันไม่ถูกกระทบจากวิกฤต" ให้แก่นโยบายที่ทรงความสำคัญลำดับต้นๆ ของสหประชาชาติ โดยจะต้องไม่ถูกกระเทือนจากความผันผวนของระบบการเงินโลก"

บันยังได้บอกอีกว่าบรรดาผู้นำของหน่วยงานต่าง ๆภายใต้สหประชาชาติ, ธนาคารโลก, และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ จะจัดการประชุมพิเศษขึ้นเกี่ยวกับวิกฤตการเงินโลกในวันที่ 24 ตุลาคมนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น