xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ปรับลดราคาขายปลีกดีเซล 60 สต.วันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ เตรียมปรับลดราคาขายปลีกดีเซลลงอีก 60 สตางค์ต่อลิตร โดยมีผล 05.00 น.วันนี้ ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับลดลงมาอยู่ที่ 36.84 บาทต่อลิตร และดีเซลบี 5 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 36.14 บาทต่อลิตร

วันนี้ (5 ส.ค.) มีรายงานข่าวว่า ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ ทั้งบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน), บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด พร้อมใจประกาศปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มดีเซล ลง 60 สตางค์ต่อลิตร โดยมีผลตั้งแต่เวลา 05.00 น. เช้าวันนี้ ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับลดลงมาอยู่ที่ 36.84 บาทต่อลิตร และดีเซลบี 5 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 36.14 บาทต่อลิตร

นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ “บางจาก” กล่าวว่า สาเหตุของการปรับลดราคาน้ำมันดีเซลในครั้งนี้ เป็นผลมาจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปดีเซลในตลาดสิงคโปร์ได้ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่วนเบนซินยังต้องติดตามดูสถานการณ์ในตลาดสิงคโปร์อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม คาดว่า ผู้ค้าน้ำมันรายอื่นคงจะมีการตัดสินใจประกาศปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลงตามผู้ค้าทั้ง 3 รายเช่นกัน ขณะที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ปิดตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ปิดที่ระดับ 125.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

การปรับราคาครั้งนี้ ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันหน้าสถานีบริการน้ำมัน ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ของ ปตท.และ เชลล์ ในวันพรุ่งนี้ ราคาน้ำมันดีเซล อยู่ที่ 36.84 บาท/ลิตร และไบโอดีเซล B5 อยู่ที่ 36.14 บาท/ลิตร

ส่วนราคาน้ำมันเบนซิน ยังคงเดิม โดยเบนซิน ออกเทน 91 อยู่ที่ 37.99 บาท/ลิตร, แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 30.49 บาท/ลิตร, แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 29.69 บาท/ลิตร

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันทะยานขึ้นเหนือระดับ 126 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ในตลาดเอเชีย จากความกังวลเกี่ยวกับปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน และพายุลูกใหม่ที่กำลังก่อตัวในอ่าวเม็กซิโก

ส่วนราคาน้ำมันดิบไลต์สวีต งวดส่งมอบเดือนกันยายนในตลาดสิงคโปร์เช้าวันนี้ เพิ่มขึ้น 1.12 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซื้อขายที่ 126.22 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มีปัจจัยมาจากปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งมีแนวโน้มว่าอิหร่านจะถูกบรรดาประเทศมหาอำนาจใช้มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมอีก ขณะเดียวกัน พายุโซนร้อนลูกใหม่ที่กำลังก่อตัวในอ่าวเม็กซิโก ฐานการผลิตน้ำมันที่สำคัญของสหรัฐฯ เป็นอีกปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น