บอร์ดการบินไทย มีมติเด้ง “อภินันทน์” พร้อมแต่งตั้ง “นรหัช” อดีตเตรียมทหาร รุ่น 10 รับตำแหน่งแทน เผยเป็นกัปต้นผู้ที่ “ทักษิณ” ไว้วางใจมากที่สุด
วันนี้ (26 มิ.ย.) นายชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการ บมจ.การบินไทย จำกัด (มหาชน ) เปิดเผยหลังประชุมบอร์ด ว่า ที่ประชุมได้มีมติปรับเปลี่ยนผู้บริหาร โดยได้แต่งตั้ง เรืออากาศโท นรหัช พลอยใหญ่ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ให้รักษาการและปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ ดีดี แทน เรืออากาศโทอภินันทน์ สุมนะเศรณี และให้เรืออากาศโทอภินันทน์ ไปปฏิบัติหน้าที่ทั่วไป
สำหรับสาเหตุปรับเปลี่ยนครั้งนี้ คณะกรรมการให้เหตุผลว่า เพื่อให้เกิดความสามัคคีและสมานฉันท์ในองค์กร เพราะการบริหารงานในช่วงที่เรืออากาศโทอภินันทน์ เป็นดีดี พบว่า ในองค์กรมีความแตกแยกเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ประธานบอร์ดการบินไทย ยังยืนยันว่า ไม่ได้เป็นใบสั่งนักการเมือง หรือตอบแทนนักการเมืองแต่อย่างใด
มีข่าวรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า เรืออากาศโท นรหัช พลอยใหญ่ เคยเป็นกัปตันคู่ใจ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไว้วางใจมากที่สุด เพราะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 10 (ตท.10) และเป็นนักบินประจำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่การเมือง
**"กัปตันประวิตร ชินวัตร เตรียมชี้แจง ปธ.สหภาพฯ
ด้านนางสาวแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ในฐานะประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ THAI ระบุว่า การที่คณะกรรมการมีมติดังกล่าวเนื่องจาก ร.ท.อภินันท์ ขัดแย้งกับทางคณะกรรมการในประเด็นเรื่องของสายการบินนกแอร์ และที่มีการเลือก ร.ท.นรหัช เนื่องจากเป็นคนสนิทของ พล.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 10
โดยในวันพรุ่งนี้ สหภาพจะเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ เพื่อแก้ไขกรณีที่องค์กรต้องมีกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สองคน และคำอธิบายของบอร์ดก็ไม่ชัดเจน รวมทั้งจะเข้ายื่นหนังสือถึงประธานวุฒิสภาด้วย
รายงานข่าวจาก การบินไทย ยังเปิดเผยว่า ในช่วงค่ำวันนี้กลุ่มนักบินที่นำโดย กัปตันประวิตร ชินวัตร จะขอเข้าพบคณะกรรมการบริษัท พร้อมกับทางตัวแทนฝ่ายสหภาพ เพื่อขอคำชี้แจงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงฝ่ายการบริหาร
อนึ่ง วานนี้ ประเด็นปัญหาทางธุรกิจของการบินไทย เป็นเรื่องหนึ่งที่ฝ่ายค้านได้หยิบยกขึ้นมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยเน้นไปที่การแทรกแซงการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร รวมทั้งการให้อภิสิทธิกับนักการเมือง รวมทั้งครอบครัวและผู้ใกล้ชิด ซึ่งส่งผลให้การบินไทยประสบกับการขาดทุน