xs
xsm
sm
md
lg

ทัพคอนเสิร์ตกระหึ่มปีหนู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายสัปดาห์ - * เมื่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับคืน และ Music Marketing คืออาวุธการตลาดทรงประสิทธิภาพ * ความบันเทิงจึงเคลื่อนขบวนปกคลุมเมืองกรุงรับศักราชใหม่ * โปรโมเตอร์หน้าใหม่โดดขึ้นเวที แย่งส่วนแบ่งธุรกิจพันล้าน คึกคัก

ธุรกิจคอนเสิร์ตที่มีมูลค่ากว่าพันล้านบาทต่อปี เคยมีโครงสร้างของผู้เล่นในตลาดไม่ซับซ้อนนัก การจัดอีเวนต์คอนเสิร์ตไทยส่วนใหญ่เป็นของเจ้าของค่ายเพลงที่ใช้เพื่อโปรโมทอัลบั้มของศิลปิน ขณะที่คอนเสิร์ตต่างประเทศ มีเพียงบริษัทยักษ์ใหญ่ทุนหนา ที่มีกำลังพอจะอิมพอร์ตวงดนตรีระดับโลกเข้ามาแสดงในเมืองไทยได้ หากปีใดที่เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย แฟนเพลงชาวไทยก็คงมีโอกาสได้เสพเพียงคอนเสิร์ตไทยไปตลอดทั้งปี แต่ถึงทศวรรษนี้ โครงสร้างในธุรกิจคอนเสิร์ตเปลี่ยนแปลงไป

เมื่อสถานการณ์ของปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์รุนแรงเกินหยุดยั้ง ค่ายเพลงต้องหันมาพึ่งรายได้จากการจัดแสดงโชว์มากขึ้น เพราะรายได้จากการขายซีดีลดฮวบลง ส่วนรายได้จากการขายคอนเทนต์ออนไลน์ก็ยังห่างไกลที่จะเข้ามาแทนที่ ขณะเดียวกันในมุมของการสื่อสารการตลาด เสียงดนตรี และตัวศิลปิน กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารการตลาดที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เจ้าของสินค้า และบริการหลายต่อหลายราย นำมาใช้ และประสบความสำเร็จ อาทิ งานโฆษณาเครื่องดื่มเอ็ม 150 จักรยานยนต์ยามาฮ่า ฟีโน่ หรือการจัดคอนเสิร์ตรับลมหนาวที่จัดขึ้นเป็นงานประจำปีในชื่อ KTC Winter Love Song ที่สร้างให้บัตรเครดิต KTC เป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจคนรุ่นใหม่อันเป็นกลุ่มเป้าหมายของบัตรอย่างนวลเนียน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์ทางการเมือง และเศรษฐกิจ ยังอยู่ในภาวะอึมครึม แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ที่ทุกฝ่ายตั้งความหวังว่า การเมืองจะชัดเจน นำพาเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ธุรกิจคอนเสิร์ตก็เริ่มส่งสัญญาณของการแข่งขันที่ดุเดือดยิ่งขึ้น

ตลาดเปิด รายย่อยแจ้งเกิด

ความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจโปรโมเตอร์ผู้จัดคอนเสิร์ตเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจเพลง ค่ายเพลงในเมืองไทยเริ่มผลัดเปลี่ยนศิลปินในสังกัดจากรุ่นเก่า สู่คนรุ่นใหม่ ผลักศิลปินคุณภาพที่เคยเป็นที่ยอมรับของผู้ฟังให้ออกไปอยู่ค่ายเล็ก หรือไร้สังกัด คนดนตรีอย่าง นูโว อำพล ลำพูน ไมโคร บิลลี่ โอแกน หรือเบิร์ด กับฮาร์ด กลายเป็นศิลปินที่สามารถขึ้นเวทีกับผู้จัดรายใดก็ได้ ประกอบกับพรมแดนของโลกที่ถูกพังทลายลงด้วยสื่ออินเทอร์เน็ต ข้อมูลข่าวสารจากทุกมุมโลกที่หลั่งไหลเข้ามา นำพาวงดนตรีคุณภาพทั่วโลกที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดค่ายใหญ่ มาสร้างกลุ่มผู้ฟังชาวไทย ล้วนเป็นโอกาสที่เปิดให้กับโปรโมเตอร์หน้าใหม่ เปิดตัวเข้าสู่ตลาดมากขึ้น

วินิจ นำเฟรสแอร์ติดปีก
ลุย 17 คอนเสิร์ตปีหน้า

วินิจ เลิศรัตนชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอส เฟรชแอร์ จำกัด กล่าวว่า แม้อาร์เอส เฟรชแอร์ จะเป็นบริษัทร่วมทุนที่มีอาร์เอส เป็นผู้ถือหุ้น แต่แนวทางการทำธุรกิจโชว์บิซ ก็ไม่ได้ผูกมัดว่าจะต้องทำงานสนับสนุนให้กับศิลปินในสังกัดอาร์เอส หากแต่ปล่อยให้เป็นอิสระจากแนวคิดของตนที่จะคิดแผนงานจัดโชว์บิซ ซึ่งตนก็เห็นโอกาสที่จะสร้างงานโดยไม่ต้องผูกติดกับอาร์เอส หรือเสียโอกาสในการดึงศิลปินจากค่ายเพลงคู่แข่งอย่าง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มาร่วมงาน "แต่ละบริษัทมีจุดเด่น แกรมมี่เขาก็มีบริษัทที่ทำงานด้านโชว์บิซอยู่แล้ว เฟรสแอร์จะขอจัดคอนเสิร์ตอย่างบอดี้สแลม พบ เดอะ ซัน คงไม่มีทาง แม้หากเราจะเป็นเฟรสแอร์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาร์เอส ก็คงเป็นไปไม่ได้ ส่วนศิลปินจากอาร์เอส ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เฟรสแอร์จะต้องไปอุ้มชู ไม่ได้มีเจตนาจะเลี่ยง หรือรังเกียจ แต่ทั้งหมดเป็นโครงการที่ผมได้คิดมาก่อนหน้า แนวทางของบริษัทฯ คือจะทำงานกับคนที่ทำงานด้วยกันได้ คือสิ่งที่สำคัญ"วินิจ กล่าวว่า แผนงานธุรกิจโชว์บิซและการจัดคอนเสิร์ต ของอาร์เอส เฟรสแอร์จากเดือนธันวาคมปีนี้ จนถึงปีหน้า เตรียมโปรเจ็กไว้ราว 17 งาน อาทิ KTC Love is Winter Festival ที่โบนันซ่า เขาใหญ่, M150 GBOB 2007 การประกวดวงดนตรีชิงแชมป์ประเทศไทยเพื่อเข้าแข่งขันชิงแชมป์โลก ที่ประเทศอังกฤษ, โปรเจ็กดนตรีในวัง "รักษ์วัง รักษ์เพลง", คอนเสิร์ต Carabao The History Diary ที่โบนันซ่า เขาใหญ่ เป็นต้น

วินิจกล่าวว่า แนวทางการจัดคอนเสิร์ตของอาร์เอส เฟรสแอร์ ต้องการสร้างมาตรฐานของงานให้แตกต่างไปจากผู้จัดคอนเสิร์ตรายอื่น โดยก่อนหน้าที่ตนจะนำบริษัทเฟรสแอร์ เข้าร่วมทุนกับอาร์เอส ก็มีการจัดคอนเสิร์ตรายการใหญ่ ที่ใช้เงินลงทุนสูง ใช้ทีมงานระดับโปรเฟสชั่นแนลจากต่างประเทศ อาทิ Look Alive Teresa Teng ที่ใช้เงินลงทุนถึง 37 ล้านบาท ใช้วงแบ็คอัพจากสหรัฐอเมริกา เอนจิเนียจัดงานจากญี่ปุ่น ทีมงานดีไซเนอร์ด้านแสง ใช้ทีมเดียวกับที่เคยทำงานให้กับซีลิน ดิออน เป็นมาตรฐานใหม่ของการทำโชว์ในประเทศไทยที่มั่นใจว่าเป็นที่พึงพอใจของผู้ชม

"สมัยก่อนคนเป็นโปรโมเตอร์จัดคอนเสิร์ต มีงบโปรดักชั่นอยู่เท่าไหร่ ก็จะไปจ้างซัพพลายเออร์ให้จัดอุปกรณ์ จัดเวทีให้อยู่ในงบเท่านั้น ผมกลับแนวคิดใหม่ ให้ดีไซเนอร์จากต่างประเทศมาดูสถานที่ คำนวณออกมาเป็นวิทยาศาสตร์ว่า ต้องดีไซน์เวทีขนาดไหน ใช้ไฟกี่ดวง กี่แรง ต้องใช้ลำโพงกี่ตู้ จึงจะทำให้โชว์นั้นสมบูรณ์ที่สุด แล้วจึงส่งแปลนกลับมา เพื่อเรียกให้ซัพพลายเออร์ดำเนินการตามนั้น งบประมาณโชว์ของเฟรสแอร์จึงสูงกว่าโชว์ทั่วไปราว 3 เท่าตัว"

จากผลงานที่เฟรสแอร์สร้างขึ้นจนเป็นที่ยอมรับของผู้ฟังถึงการจัดโชว์ที่มีมาตรฐาน Over Standard มาจนถึงการเข้ามาร่วมงานกับอาร์เอส กลายเป็น อาร์เอส เฟรสแอร์ เมื่อราว 6 เดือนที่ผ่านมา ทำให้การทำงานในมุมธุรกิจเริ่มเป็นระบบมากขึ้น มีการวางแผนที่ดีขึ้น การควบคุมงบประมาณ วินัยในการใช้เงินเป็นระบบขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากอาร์เอส ในด้านการทำการตลาด หาผู้สนับสนุนจากผู้ที่มั่นใจในศักยภาพของอาร์เอส ให้เข้ามาสนับสนุนงานของเฟรสแอร์ ทำให้ตนตั้งเป้าหมายว่า ทั้ง 17 โปรเจ็กที่จะเกิดขึ้นจากนี้ จะมีกำไรราว 30% ทุกงาน

สำหรับสถานการณ์ธุรกิจโชว์คอนเสิร์ตในปัจจุบันว่า การอยู่รอดของธุรกิจเพลงที่ไม่สามารถสร้างรายได้จากการขายเทป ซีดี เหมือนก่อน ต้องวิ่งเข้ามาหารายได้จากการทำโชว์ ดังนั้น ในฐานะที่อาร์เอส เฟรสแอร์ เป็นบริษัทผู้ทำโชว์ จึงต้องยืนยันที่จะสร้างความแตกต่างด้วยคุณภาพที่เหนือมาตรฐาน หรือเหนือจากความคาดหมายของผู้ชม ซึ่งเป้าหมายของตนในการสร้างอาร์เอสเฟรสแอร์ คือ การสร้างชื่อบริษัท ให้เป็นมาตรฐานการันตีการจัดงานคุณภาพ น่าจะเกิดขึ้นในปีหน้าจากผลงาน 17 โปรเจ็กแน่นอน

อาดามัส คาดตลาดส่อแววดุ
เร่งปรับทัพ


อีกหนึ่งบริษัทน้องใหม่ในด้านการจัดโชว์บิซ มีเส้นทางสวนทางกับวินิจ เลิศรัตนชัย ที่เดินเข้าสู่ชายคาอาร์เอส เพื่อนำแผนงานที่เคยคิดไว้เข้าเติมศักยภาพด้านการลงทุน ขณะที่ประสงค์ รุ่งสมัยทอง คนที่เคยอยู่ในบ้านอาร์เอส ดูแลแผนงาน Artist Management กลับเป็นผู้ที่เดินออกมาจัดตั้งบริษัทอิสระที่จะรุกธุรกิจโชว์บิซอย่างเต็มตัว

ประสงค์ ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาดามัส มีเดีย จำกัด ที่มีผลงานที่แสดงฝีมือการจัดคอนเสิร์ตมาตั้งแต่กลางปี ให้กับศิลปินจากแดนเกาหลี ทั้ง เรน และดงบังชิงกิ เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจการจัดคอนเสิร์ตในปีนี้ค่อนข้างซบเซา เป็นผลมาจากปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ในขณะเดียงกันผู้เล่นหลักๆอย่าง บีอีซี และ อาร์เอส ในรอบปีที่ผ่านมาถือว่ามีการจัดงานน้อยมาก อย่างไรก็ตามมองว่าทิศทางของธุรกิจการจัดคอนเสิร์ตในประเทศไทยในปี 2551 น่าจะมีแนวโน้มดุเดือดมากขึ้น เนื่องจากมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาด

" ภาพรวมการจัดคอนเสิร์ตปีนี้ค่อนข้างเงียบ เพราะค่ายใหญ่ๆอย่าง บีอีซี และ อาร์เอส มีการจัดคอนเสิร์ตน้อยมาก อย่างไรก็ตามมองว่าในปีหน้า หากค่ายใหญ่อย่าง บีอีซี ขยับ ธุรกิจนี้น่าจะเติบโตไม่น้อย ตรงนี้ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะกำหนดทิศทางได้ ประกอบกับการมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาสู้ในตลาด ก็จะทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างสนุกสนาน "

ด้านการแข่งขันของธุรกิจนี้ ด้วยจำนวนผู้เล่นที่มากขึ้น ถือเป็นการสร้างความคึกคักให้กับตลาด อย่างไรก็ตามประสงค์มองว่า ผู้เล่นหน้าใหม่เหล่านี้น่าจะมีแนวทางในการจับกลุ่มนิช หรือเฉพาะกลุ่มมากกว่าที่จะมุ่งจับตลาดแมส ส่วนปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจนี้คือ สถานที่ในการจัด เนื่องจากปัจจุบันมีสถานที่ที่จำกัด และมีเพียงไม่กี่แห่ง การจะทำให้ธุรกิจดังกล่าวเติบโตและบูมจะต้องมีสถานที่ที่รองรับมากกว่าที่เป็นอยู่

แม้ภาพรวมของธุรกิจมีแนวโน้มเติบโต แต่อาดามัส มีเดีย ในฐานะผู้จัดหรือโปรโมเตอร์ผู้สร้างความแตกต่างด้วยการนำศิลปินนักร้องจากแถบเอเชียเข้ามาแสดงในประเทศไทย กลับต้องหันมาคิดอีกครั้งหนึ่ง ประสงค์ กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องกลับมาทบทวนบทบาทของผู้จัด เนื่องจากบทเรียนที่เกิดขึ้นกับคอนเสิร์ตของ "เรน"ที่ต้องเลื่อนการแสดงทำให้ตระหนักได้ถึงความเสี่ยงของการเป็นโปรโมเตอร์

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้น มีผลกระทบด้านรายได้ เนื่องจากบริษัทได้ทำการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ตั้งแต่ช่วงต้นปี เมื่อเกิดการเลื่อนทำให้ต้องมีการชี้แจงและทำการประชาสัมพันธ์ใหม่เพื่อสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภค ซึ่งคอนเสิร์ตดังกล่าว บริษัทใช้เงินลงทุนมากกว่า 70 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามากที่สุด และเมื่อกลับมาดูผลรายได้กลับพบว่าขาดทุนเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามการจัดคอนเสิร์ตครั้งล่าสุดที่เพิ่งจัดไปอย่าง ดงบังชิงกิ ซึ่งบริษัทใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท กลับประสบความสำเร็จและสร้างผลกำไร

ปัจจุบันรายได้หลักของอาดามัส มาจากคอนเสิร์ตกว่า 90 % การลดความเสี่ยงตามแผนการตลาดใหม่ของอาดามัส คือการปรับสัดส่วนลดลงเหลือ 30 % ในปีหน้า อย่างไรก็ตามการปรับส่วนธุรกิจในครั้งนี้ก็มิได้หมายความถึงการหันหลังให้กับธุรกิจดังกล่าวนี้ โดยในปีหน้าอาดามัสยังคงมีการนำคอนเสิร์ตจากนักร้องชื่อดังจากแถบเอเชีย มาแสดงในช่วงไตรมาสที่ 2 และ ไตรมาส 4 ซึ่งการจัดคอนเสิร์ตในแต่ละครั้งคาดว่าจะใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ด้านผลการดำเนินงานของ อาดามัส มีเดีย ปี 2550 คาดว่าจะสามารถกวาดรายได้ 150 ล้านบาท แบ่งออกเป็นรายได้ที่มาจากธุรกิจคอนเสิร์ต 90 % และ จากธุรกิจอีเว้นต์ 10 % และในปี 2551 ซึ่งบริษัทได้ทำการปรับโมเดลการบริหารใหม่ ด้วยการวางโพสิชั่น " คอนเท้นต์ เมเนจเม้นท์ "โดยคาดว่าจะสามารถกวาดรายได้ 350 ล้านบาท แบ่งออกเป็น ธุรกิจกีฬา 40% ,ธุรกิจคอนเสิร์ต 30 % ,ธุรกิจภาพยนตร์ 20 % และอีเว้นต์ 10 %

โอ้ พระเจ้า จอร์จ...
ทีวีไดเร็ค โดดร่วมวงคอนเสิร์ต


ทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีวี ไดเร็ค มองว่าธุรกิจไดเร็ค มาร์เก็ตติ้งของตนมิใช่เป็นธุรกิจขายสินค้าเครื่องออกกำลังกายเหมือนที่คนส่วนใหญ่เห็น เขาเห็นว่า ตลอด 14 ปีที่ดำเนินธุรกิจอยู่นั้น ทีวีไดเร็ค ให้บริการด้าน Entertaining People with Information สร้างความบันเทิงให้กับผู้บริโภคด้วยข้อมูล โดยผลงานที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการให้ข้อมูลทางสินค้าเครื่องออกกำลังกายด้วยรูปแบบความบันเทิง ทั้งรายการทีวีหลังเที่ยงคืนที่สาธิตการใช้สินค้าในแบบบันเทิง และประโยคเด็ดที่ได้รับความนิยมถึงระดับถูกใช้เป็นเสียงเรียกเข้าโทรศัพท์มือถืออย่าง "โอ้ พระเจ้า จอร์จ มันยอดมาก" สร้างความสำเร็จจนถึงปัจจุบัน วันนี้จากการขายสินค้า ทีวีไดเร็คจะเคลื่อนเข้าสู่การขายบริการ โดยมีการจัดโชว์บิซ คอนเสิร์ตเป็นเป้าหมาย

ทรงพล กล่าวว่า วันนี้มิวสิค มาร์เก็ตติ้ง มีความสำคัญใน 2 มุม มุมแรกคือ การเป็นธุรกิจ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับศิลปิน ทดแทนรายได้ของอัลบั้มที่สูญไปจำนวนมาก ขณะที่อีกมุม การสื่อสารการตลาดในรูปแบบ Sponsorship Marketing ที่ไม่จำเป็นต้องใช้งบโฆษณามากมาย หากเจ้าของสินค้าสามารถเลือกศิลปิน ค่ายเพลง หรืออีเวนต์ด้านดนตรีใด ๆ ที่สอดคล้องกับภาพพจน์สินค้า หรือมีกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน การผูกติดไปกับคอนเสิร์ตสัก 3-4 ครั้ง ชื่อสปอนเซอร์ก็จะติดไปกับงานนั้น ๆ เหมือนดังเช่นชื่อของ บัตร KTC กับการจัดดนตรีรักในฤดูหนาว Winter Love Song

ความจริงแล้วนอกเหนือจากการขายสินค้าผ่านระบบไดเร็ค มาร์เก็ตติ้ง แล้ว ทีวีไดเร็คยังมีบทบาทเสมือนเอเยนซี่ด้านการสื่อสารการตลาดในรูปแบบบีโลว์ เดอะไลน์ ทั้งการให้บริการด้านงานประชาสัมพันธ์ การจัดกิจกรรมอีเวนต์เปิดตัวสินค้า รุกมาถึงการจัดคอนเสิร์ต ที่เริ่มจาก คอนเสิร์ต "โต๋" ศักดิ์สิทธิ เวชสุภาพร เนื่องจากทรงพล มีความสนิทสนมอันดีกับนคร เวชสุภาพร บิดาของหนุ่มโต๋

ความสำเร็จของการจัดคอนเสิร์ตโต๋ สร้างความมั่นใจให้กับทรงพล ที่จะขยายธุรกิจของทีวีไดเร็ค เข้าสู่งานบันเทิงเต็มตัว โดยรูปแบบของคอนเสิร์ตที่จะเกิดขึ้นในนามของทีวีไดเร็ค จะเป็นคอนเสิร์ตที่จับกลุ่มนิช โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป

รูปแบบของคอนเสิร์ต ทรงพล กล่าวว่าได้ตั้งเป้าการจัดคอนเสิร์ต 3 รายการไว้ในปีหน้า โดยจะเป็นคอนเสิร์ตของศิลปินไทย 2 รายการ ซึ่งคาดว่าจะเป็น โต๋ ศักดิสิทธิ์ เวชสุภาพร 1 รายการ ส่วนอีกรายการอยู่ระหว่างทาบทามศิลปินชื่อดังในอดีตที่เป็นผู้บุกเบิกให้กับค่ายเพลงไนท์สปอตให้โด่งดังในช่วงเวลาหนึ่ง และเป็นคอนเสิร์ตจากต่างประเทศอีก 1 รายการ

"คอนเสิร์ตอินเตอร์ในปีหน้าจะเลือกวงดนตรีที่คงมีคนไทยรู้จักไม่มากนัก เราไม่ทำไดนา รอสส์ หรือเคนนี่ จี แต่จะเป็นนักดนตรีอย่าง จิมมี่ บรานส์ หรือ วง Eart Wind & Fire ที่มีกลุ่มผู้ฟังจำนวนหนึ่งในเมืองไทย ทั้งชาวต่างประเทศที่ทำงานอยู่ในเมืองไทย หรือผู้ฟังชาวไทยที่ติดตามผลงานของนักดนตรีนี้อยู่"

ทรงพลตั้งเป้าว่า การจัดคอนเสิร์ตต่างประเทศของทีวีไดเร็ค จะรองรับผู้ชมในระดับ 500-1,000 คน โดยค่าใช้จ่ายในการจัดมีการร่วมมือกับผู้ดำเนินธุรกิจไดเร็ค มาร์เก็ตติ้งในสิงคโปร์ และไต้หวัน มาช่วยแชร์งบประมาณในการดึงวงดนตรีจากยุโรป หรืออเมริกามาแสดงที่นี่ ตั้งเป้าหมายว่า รายได้จากธุรกิจคอนเสิร์ตจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีนี้ที่ทำรายได้ 40 ล้านบาท เพิ่มเป็น 80 ล้านบาทในปีหน้า

ทรงพลมองถึงสงครามคอนเสิร์ตที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าว่า ตลาดคงจะเละ เพราะคงมีคนจัดกันเยอะ ซึ่งทำให้ทีวีไดเร็ค วางแผนจัดเพียง 3 รายการที่มั่นใจว่ามีกลุ่มผู้ชมที่ไม่ต้องไปแย่งกับใครแน่นอน

เทอร์มินอลฯ เดินเกมตลาดเล็ก

วนิดา วรรณศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอร์มินอล เอ็กซ์ตร้า จำกัด อีกหนึ่งโปรโมเตอร์คอนเสิร์ตอิสระ กล่าวว่า เทอร์มินอล เอ็กซ์ตร้า เลือกที่จะดำเนินธุรกิจโดยการมุ่งไปที่การจัดคอนเสิร์ตสำหรับกลุ่มเฉพาะหรือ นิช มาร์เก็ต เป็นคอนเสิร์ตขนาดเล็กจนถึงกลาง ที่ใช้ต้นทุนในการจัดการแสดงไม่สูงนัก อยู่ในราว 3-10 ล้านบาท นำวงดนตรีที่ไม่ใช่วงชื่อดังระดับซูเปอร์สตาร์ แต่ก็มีกลุ่มผู้ฟังอยู่เป็นกลุ่มพอสมควร การจัดแสดงแต่ละครั้งสามารถเรียกผู้ชมได้ในระดับ 1,500 จนถึง 8,000 คน ใช้สถานที่จัดแสดงไม่ใหญ่นัก มีรายได้หลักจากการจำหน่ายบัตร โดยไม่หวังพึ่งการหาสปอนเซอร์ที่ยอมรับว่าความคึกคักของการใช้งบประมาณเพื่อสร้างกลยุทธ Music Marketing ให้กับสินค้า ยังไม่ตกมาถึงผู้จัดรายเล็ก หรือผู้จัดที่มุ่งจับกลุ่มนิชเช่นเทอร์มินอล เอ็กซ์ตร้า

วนิดากล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน ควรจะมุ่งไปในแนวทางการจัดคอนเสิร์ตขนาดกลางจนถึงเล็ก โดยมองหาตลาดใหม่ ๆ ยังไม่มีผู้จัดรายใดเข้าไปทำ ไม่แย่งศิลปินจากใคร นำมาเจาะผู้ฟังเฉพาะกลุ่ม สร้างเป็นคอมมูนิตี้ที่ใหญ่ขึ้น เหมือนดังกลุ่มผู้ฟังแจ๊ส เฟสติวัล ที่มีขนาดใหญ่ในปัจจุบัน

เทอร์มินอล เอ็กซ์ตร้าวางแนวทางในการเจาะตลาดคอนเสิร์ตระดับเล็กด้วยการร่วมทุนกับ LAMC Production บริษัทผู้จัดคอนเสิร์ตจากสิงคโปร์ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการดึงศิลปินจากยุโรป หรืออเมริกา มาเปิดการแสดงในภูมิภาคนี้ โดยโครงการร่วมมือระหว่างกันรายการแรกคือ โครงการบร็อก ปาร์ตี้ หรือ Bangkok Rock Party ซีรีส์คอนเสิร์ตในแนวเพลงร็อก มีศิลปินร็อกจากทั่วทุกมุมโลก เดินทางมาเปิดคอนเสิร์ตภายใต้โครงการนี้ ประเดิมวงแรก Funeral For A Friend ศิลปินแนวโพสต์ฮาร์ดคอร์ จากเกาะอังกฤษ

"การร่วมทุนกับผู้จัดคอนเสิร์ตจากสิงคโปร์จะทำให้บริษัทฯ มีกำลังในการจัดคอนเสิร์ตที่ดี ๆ จากต่างประเทศได้มากขึ้น โดยทั้ง 2 ฝ่ายมีแนวคิดตรงกันว่า จะไม่เน้นการวงดนตรีที่ดังแล้ว หากแต่เลือกวงดนตรีที่เห็นว่ามีตลาดผู้ฟังรองรับอยู่ และสามารถส่งกระจายข่าวสารไปถึงได้ มีคนดูหลักพันก็ถือว่าประสบความสำเร็จ และในอนาคตอาจมีดึงผู้จัดจากมาเลเซีย และฮ่องกง มาร่วมกันเพื่อแชร์ค่าใช้จ่ายลงอีก"

วนิดา วางแผนสำหรับปีหน้าว่า จะดึงวงดนตรีร็อกเฉพาะกลุ่มจากต่างประเทศเข้ามาแสดงคอนเสิร์ตในเมืองไทยราว 3-4 วง ภายใต้โครงการ Bangkok Rock Party หรือ บร็อก ปาร์ตี้
กำลังโหลดความคิดเห็น