xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องดื่มชูกำลัง ปี’ 51: ตลาดในทรงตัว…..ท่ามกลางมรสุมรุมเร้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง (Energy Drink) มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากการเผชิญกับปัญหารุมเร้าต่าง ๆ ทั้งจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้า ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง เฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริโภคระดับล่าง อาทิ เกษตรกร และผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของธุรกิจนี้ ประกอบกับการประสบปัญหาภาวะการแข่งขันที่ยังทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งจากการแข่งขันกันเองในสินค้าเครื่องดื่มชูกำลังด้วยกันและจากเครื่องดื่มทดแทนอื่น ๆ อาทิ เครื่องดื่มเกลือแร่ และเครื่องดื่มน้ำผลไม้ผสมเกลือแร่ รวมถึงเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่กำลังอยู่ในความนิยมของผู้บริโภค ตลอดจนการถูกควบคุมเนื้อหาการโฆษณาอย่างเข้มงวดจากภาครัฐ ทำให้มูลค่าตลาดเครื่องดื่มชูกำลังมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยคาดว่า มูลค่าตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในปี 2550 จะอยู่ที่ประมาณ 14,700 ล้านบาท หรือขยายตัวเพียงร้อยละ 1.5 จากปีที่ผ่านมา

การผลิต….ขยายตัวลดลง
ข้อมูลจากการรวบรวมของฝ่ายวิจัย ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน)ระบุว่า ปัจจุบัน ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศที่สำคัญมีประมาณ 5 ราย ได้แก่ บริษัท โอสถสภา จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลังภายใต้เครื่องหมายการค้า “ เอ็ม 150 “ บริษัท คาราบาว ตะวันแดง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลังภายใต้เครื่องหมายการค้า “ คาราบาวแดง “ บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลังภายใต้เครื่องหมายการค้า “ กระทิงแดง” บริษัท เครื่องดื่มแรงเยอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลังภายใต้เครื่องหมายการค้า “ แรงเยอร์ “ และ บริษัท กรุงสยามเครื่องดื่ม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลังภายใต้เครื่องหมายการค้า “ หมีคอมมานโด”

การผลิตเครื่องดื่มชูกำลังในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา ได้ชะลอตัวลง หลังจากที่ได้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปีในช่วงก่อนหน้านั้น แต่สำหรับในปี 2550 ช่วง 9 เดือนแรก การผลิตมีปริมาณ 593.7 ล้านลิตร ลดลงร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลมาจากการมีสต็อกคงค้างเหลืออยู่เป็นจำนวนมากจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตบางรายหันมาให้ความสำคัญกับการขยายไลน์ไปยังเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น เช่น บริษัท โอสถสภา จำกัด ที่ออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ “เปปทีน (PEPTEIN)” เป็นต้น อีกทั้งการถูกควบคุมอย่างเข้มงวดเกี่ยวกับส่วนผสมของเครื่องดื่มชูกำลังที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ประกอบกับยังได้รับผลกระทบจากการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนการผลิต ได้แก่ ค่าจ้างแรงงาน น้ำตาล ค่าขนส่งสินค้า วัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม และจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน จากปัจจัยลบต่าง ๆ เหล่านี้ ได้ส่งผลให้การผลิตเครื่องดื่มชูกำลังมีปริมาณลดลง

ตลาดในประเทศ……ยังถูกรุมเร้าจากปัจจัยลบ
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 ปริมาณการจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลังอยู่ที่ 564.9 ล้านลิตร หรือเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากการชะลอตัวลงของภาวะเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนในทางการเมือง รวมถึงภัยธรรมชาติที่เกิดตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งภาคกลางและภาคเหนือ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภค เฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรในพื้นที่ต่างจังหวัดซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของเครื่องดื่มชูกำลัง ประกอบกับการจำหน่ายยังได้รับผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐที่ออกมาตรการควบคุมเนื้อหาการโฆษณาเครื่องดื่มชูกำลัง(แต่ไม่คุมเวลาการโฆษณา) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมการดื่มต่อวันไม่ให้มากเกินไป ทั้งนี้ เพราะมีงานวิจัยที่ระบุว่า การดื่มมากเกินไปจะทำให้ร่างกายได้รับปริมาณคาเฟอีนสังเคราะห์มากเกินและอาจเกิดโทษต่อร่างกายได้ อีกทั้งห้ามนำดารานักร้องที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี มาเป็นผู้นำเสนอขายสินค้า และห้ามจัดกิจกรรมในลักษณะการชิงโชคใต้ฝา(Instand Win) นอกจากนี้ กระแสความนิยมในการบริโภคเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มีแนวโน้มมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก สำหรับผู้นำตลาดในธุรกิจนี้ ได้แก่ เอ็ม 150 ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 50 ของมูลค่าตลาดเครื่องดื่มชูกำลังโดยรวม รองลงมา คือ คาราบาวแดง ร้อยละ 25 กระทิงแดง ร้อยละ 20 และอื่น ๆ อีก ร้อยละ 5

(โปรดติดตามอ่านต่อตอนหน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น