ผู้จัดการรายสัปดาห์ - *วันหนึ่ง...เมื่อเครื่องบินเล็กอยากเป็น “แท็กซี่” *นี่ไม่ใช่เรื่องตลก!..แต่กลับกลายเป็นเรื่องจริง * เวลากลายเป็นจุดขาย...จุดหมายปลายทางคือคำตอบ * สร้างกลยุทธ์แนวใหม่ รับ-ส่งเฉพาะกลุ่มในยุคเปิดบินเสรี
“จุดเปลี่ยน” ทางการลงทุนในอุตสาหกรรมการบินกำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อ “ผู้โดยสาร” กลุ่มที่มีกำลังซื้อมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเริ่มหันมาใช้เครื่องบินเช่าเหมาขนาดเล็กซึ่งเป็นส่วนตัวกันมากขึ้นเดินทางทั้งภายในประเทศและภูมิภาคในแถบบริเวณใกล้เคียงมากขึ้น
ขณะเดียวกันแนวโน้มของตลาดในเมืองไทยธุรกิจเครื่องบินเล็กกำลังบูมสุดๆเมื่อมีหลายค่ายธุรกิจอาทิ บริษัท สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง จำกัด ของกลุ่ม แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ บริษัท สีชัง ฟลายอิ้ง จำกัด กลุ่มไมเนอร์ และ เอส จี เอ ให้ความสนใจกระโดดเข้ามาร่วมวงไพบูลย์แข่งขันกัน เพื่อหวังช่วงชิงกลุ่มเป้าหมายทั้งในประเทศและจากหลายประเทศในแถบเอเชียและตะวันออกกลางให้ได้มากที่สุด เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจากหลายประเทศต้องเดินทางในเวลาที่จำกัดธุรกิจเครื่องบินเล็กจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สำคัญและสามารถรองรับตลาดได้อย่างดี ขณะที่ประเทศไทยเองมีสินค้าหลักที่ได้รับความนิยมอยู่แล้วถึง 2 อย่างด้วยกันคือ ธุรกิจการท่องเที่ยว และบริการ
ดังนั้นการเปิดให้บริการหรือลงทุนในธุรกิจแนวใหม่ด้วยเครื่องบินขนาดเล็กขนาด 8-14 ที่นั่ง รับ-ส่งเฉพาะจุดหมายปลายทางที่ลูกค้ากำหนดและตรงต่อเวลา จึงกลายเป็นจุดขายที่ส่งผลให้การตัดสินใจของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่มีกำลังซื้อไม่ลังเลที่จะเข้าใช้บริการในทันที ถึงแม้ว่าสนนราคาจะค่อนข้างสูงก็ตาม
ล่าสุด "สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง" สบช่องเตรียมขยายเปิดเกมรุกธุรกิจเครื่องบินเล็ก สอดคล้องกับที่ สุนทร อรุณานนท์ชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง จำกัด บอกว่า ได้วางแผนพัฒนาธุรกิจบริการเครื่องบินเล็กโดยลงทุน 475 ล้านบาท ซื้อเครื่องบินรุ่น Hawker 850 XP ขณะนี้ฝูงบินมีทั้งหมด 3 ลำ ที่จัดซื้อใหม่และของเดิม 2 ลำ Super King Air 350 เครื่องใบพัดแบบเทอร์โบพร็อพ ระยะการบิน 3 ชั่วโมง ส่วน Hawker 850 XP เป็นเครื่องเจ็ตขนาดกลาง สามารถบินได้ไกล 5-6 ชั่วโมง เล็งกลุ่มตลาดเป้าหมายกลุ่มเช่าเครื่องบินส่วนตัว ภายใต้แบรนด์ Executive Wings
ปัจจุบัน สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง ครองส่วนแบ่งทางการตลาดเครื่องบินส่วนตัวเมืองไทยกว่า 90% จากนี้ไปจะใช้สมรรถนะเครื่อง รุ่นใหม่รัศมีการบินไกลถึงตะวันออกกลาง เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ผนวกทำตลาดกับเครือข่ายบริษัทตัวแทนขายทำรายได้รวมปี 2551 เพิ่มไม่ต่ำกว่า 80% รวมทั้งยังตั้งเป้าหมายการลงทุน Hawker 850 XP จะคุ้มทุนภายใน 8 ปี
ขณะเดียวกันการลงทุนซื้อเครื่องบินเจ็ตใหม่เพื่อสร้างแบรนด์ Executive Wings กระตุ้นตลาดการเดินทางเชิงธุรกิจและท่องเที่ยว จากเดิมบริษัทมีรายได้จากตลาดนี้เพียง 30% รายได้ส่วนใหญ่ 70% มาจาก Medical Wings บริการเครื่องบินเพื่อการส่งต่อผู้ป่วยทั้งในและต่างประเทศ
หากดูแผนการตลาดแบรนด์ Executive Wings ลำดับแรกคาดว่าน่าจะมุ่งเจาะขายตรงกลุ่มองค์กรและบริษัทขนาดใหญ่มากขึ้น เน้นกลุ่มผู้บริหารระดับสูงที่ต้องเดินทางติดต่อธุรกิจยังเมืองต่างๆ ที่ไม่ใช่เมืองใหญ่ แต่ต้องใช้เวลารวดเร็ว จากนั้นจะเร่งสร้างเครือข่ายกับบริษัททัวร์ โรงแรมต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อแนะนำสินค้าและบริการก่อนจะเป็นลูกค้าในอนาคต
เส้นทางในประเทศสดใสไม่แพ้กัน
ที่ผ่านมาสนามบินบางแห่งของกรมขนส่งทางอากาศ มีผู้ใช้บริการน้อยส่งผลให้สายการบินจำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบินบ่อยครั้ง ขณะเดียวกันการใช้ประโยชน์ของสนามบินฯก็เป็นไปอย่างไม่เต็มที่เท่าไรนัก ทำให้เครื่องบินที่ใช้สนามบินส่วนใหญ่เป็นขนาดเล็ก เช่น เครื่องบินเช่าเหมาลำ และเครื่องบินของกองทัพอากาศเท่านั้น หรือสนามบินบางแห่งไม่มีเครื่องบินขึ้นลงทั้งที่ใช้เงินลงทุนก่อสร้างจำนวนมาก กอปรกับกรมขนส่งทางอากาศเปิดทางให้ผู้ประกอบการขออนุญาตทำการบินได้ส่งผลให้มีหลายค่ายสนใจเส้นทางในประเทศเป็นจำนวนมาก
สอดคล้องจากการซื้อเครื่องบินเจ็ตลำใหม่สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง มาเสริมการเดินทางระหว่างประเทศแล้ว เชื่อได้ว่าต่อไปในอนาคตสยามแลนด์ ฟลายอิ้งจะปรับให้เครื่องบินเทอร์โบพร็อพ 2 ลำ ให้บริการเฉพาะด้านมากขึ้นเพื่อเป็นเครื่องบินเดินทางระยะใกล้โดยมีจุดหมายปลายทางอาทิ กรุงเทพฯ-หัวหิน เพราะหากนำเครื่องบินเจ็ตมาบินระยะใกล้จะไม่คุ้มค่า พร้อมทั้งใช้บริการงานหลักรับส่งผู้ป่วย ปัจจุบันมีผู้ป่วยจากต่างประเทศนิยมใช้บริการเครื่องบินเพื่อส่งต่อมายังโรงพยาบาลในไทย เช่น สมิติเวช บีเอ็นเอช บำรุงราษฎร์ และโรงพยาบาลกรุงเทพ และค่าใช้จ่าย Medical Wings สูงกว่าการเดินทางปกติ 50,000-60,000 บาท/ครั้ง
ผลการสำรวจตลาดเครื่องบิน Hawker 850 XP ของสยามแลนด์ ฟลายอิ้งคาดว่าตัวเลขผู้ใช้บริการเช่าเหมาลำจะมีถึง 50-55 ชั่วโมง/เดือน คิดเป็นค่าบริการกว่า 160,000 บาท/ชั่วโมง กลุ่มเป้าหมายเป็นต่างชาติในไทยจากยุโรปและสหรัฐกว่า 70 % โดยมีศูนย์กลางการบินที่กรุงเทพฯ แต่ลูกค้าสามารถเลือกแวะไปยังจุดหมายปลายทางหลายแห่งตามความต้องการ
ขณะเดียวกันสายการบินขนาดเล็กสายเลือดไทยอย่าง 'เอส จี เอ' ที่ปฏิบัติหน้าที่ของเครื่องบินรับ-ส่งผู้โดยสารในระยะทางใกล้ๆ มาแล้วกว่า 3 ปีโดยเน้นในน่านฟ้าและเส้นทางบินกรุงเทพ - หัวหิน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 4 เที่ยวบินต่อวัน เสมือนเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจเครื่องบินเล็ก กับพันธกิจการบินเชื่อมเมือง เพื่อต่อยอดภารกิจหลักของสายการบินใหญ่ที่ไม่อาจตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้โดยสารกลุ่มเล็กๆ ที่เน้นปลายทางค่อนข้างเฉพาะเจาะจง (Nitch Market ) ซึ่งคิดแล้วไม่คุ้มกับต้นทุนการดำเนินการ หรืออาจเป็นพื้นที่จังหวัดขนาดเล็กที่บอดี้ใหญ่ยักษ์ของเครื่องบินลำโตไม่อาจเข้าถึงได้ และไม่คุ้มทุนที่นับวันจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
การเก็บชั่วโมงบินเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ของเครื่องบิน 1 ลำ ภายใต้แบรนด์ เอส จี เอ กับยอดลูกค้าที่สะสมได้กว่า 4 หมื่นคน ช่วยสร้างความแข็งแกร่ง พอที่จะทำให้ปีนี้เอสจีเอพร้อมสยายปีกตีวงบินได้กว้างมากขึ้น ด้วยการอนุมัติเพิ่มจำนวนของเครื่องบินขนาดเล็ก แซสน่า 208บี แกรนด์ คาราแวน ที่จะเพิ่มขึ้นอีกถึง 3 ลำ และเส้นทางการบินที่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 3 เส้นทาง
เอส จี เอ กับที่นั่งเพียง 10 -12 Seat ต่อ 1 ลำเลือกที่จะเติมเต็มเสน่ห์เมืองเหนือใน 3 เส้นทางบิน จากฐานการบินของเมืองวัฒนธรรมอย่าง เชียงใหม่ เชื่อมต่อไปยังเมืองเล็กที่เป็น 'แลนมาร์ค' ที่สมบูรณ์ด้วยธรรมชาติและวัฒนธรรมดั้งเดิมสำหรับนักท่องเที่ยว ทั้ง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน, จังหวัดแพร่ และจังหวัดเชียงราย
รูทใหม่ของเอส จี เอ อาจเคยเป็นรูทปราบเซียนของสายการบินน้อยใหญ่ ที่หลังจากเปิดเส้นทางบินและกระตุ้นการตอบรับของผู้บริโภคอยู่พักใหญ่ ก็ต้องรับสภาพและถอยทับกลับภูมิลำเนาไป โดยเฉพาะเส้นทางบินเชียงราย ที่ยักษ์ใหญ่การบินไทยเคยทดลองตลาดมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ด้วยความเป็นเครื่องบินลำโต ที่อาจไม่พอดีกับจำนวนผู้โดยสารที่ยังซื้อตั๋วน้อยกว่าที่นั่งเสมอๆ นกใหญ่จึงต้องกลับลำและเบนเข็มไปยังเส้นทางที่ให้ความคุ้มค่าด้านการลงทุนมากกว่า
ส่วนรูทใหม่ๆ เช่น แพร่ หรือ ปาย ถือเป็นช่องทางโอกาสเล็กๆ พอดีตัว สำหรับนกเล็ก เอส จีเอ ที่คู่แข่งแบรนด์ใหญ่ไม่สามารถแทรกตัวเข้ามาได้ อุปสรรคสำคัญคือความพร้อมด้านพื้นที่ โดยเฉพาะรันเวย์ในเมืองเล็กเหล่านี้ ที่ยังรองรับได้เพียงเครื่องบินเล็กขนาดไม่กี่ที่นั่งเท่านั้น
หาพันธมิตรร่วม
ธุรกิจเครื่องบินเล็กนับเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างเต็มที่ แถมยังได้กำลังใจที่ดีจากเจ้าของพื้นที่ที่เข้าไปลงทุนและพร้อมที่จะอ้าแขนรับการเข้ามาของนักธุรกิจ ซึ่งเชื่อว่าสามารถเอื้อประโยชน์ต่อกันได้อย่างลงตัว ที่อาจเห็นได้ไม่ง่ายนักในโลกแห่งทุนนิยม
ปัจจุบันหลายจังหวัดที่กลุ่มของ เอส จีเอ วางรูทไว้ มีการเจรจากับเจ้าของท้องที่เพื่อขยายเส้นทางบิน นำไปสู่การดึงงบประมาณจากจังหวัดเพื่อลงทุนในส่วนของรันย์เวย์ โดยเอส จีเอ ไม่ต้องควักระเป๋าเอง ตามสูตรธุรกิจ win - win
ล่าสุด เมืองท็อปฮิตอย่าง ปาย ใช้งบกว่า 10 ล้านบาท ในการปูพื้นรันเวย์เล็กๆ ต้อนรับเครื่องบินเล็กที่เชื่อว่าความก้าวหน้าจะมาพร้อมกับการหยั่งขาแตะรันเวย์
สอดคล้องกับที่ ดร.เจน ชาญณรงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบิน เอส จีเอ ที่พูดถึงการตอบรับเครื่องบินลำจิ๋วของคนเมืองให้ฟังว่า เป็นเสมือนกำลังใจที่ทำให้ความฝันและความหวังที่จะนำผู้โดยสารเครื่องบินเล็ก ขยายเข้าไปตามเมืองเล็กๆ หลากหลาย พร้อมกับปูพรมครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศให้มีศักยภาพของแต่ละเมืองเติบโตไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางแม่สาย เชียงราย ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญของภาคเหนือ หรือเส้นทางหาดใหญ่ที่โดดเด่นมากขึ้นทุกวัน รวมถึงบรรดาเกาะเล็กเกาะน้อย ที่ต่อไปอาจจะได้เห็นเครื่องบินแลนดิ้งลงบนเกาะกลางทะเลสวยหลายแห่ง
นับว่าเป็นจุดแข็งที่เครื่องบินใหญ่ๆไม่สามารถทำได้เลย นอกจากเจ้านกเหล็กน้อยตัวนี้เท่านั้นที่จะสามารถสานฝันและพาผู้โดยสารได้โฉบเฉี่ยวสัมผัสทัศนียภาพ ภูมิประเทศและทิวทัศน์รอบข้างได้อย่างใกล้ชิด ด้วยเพดานบินต่ำ ตั้งแต่เมืองเหนือที่โอบล้อมไปด้วยจิตกรรมฝาผนังธรรมชาติ อย่างภูเขาและต้นไม้ กระทั่งสายน้ำและสิ่งมีชีวิตที่แหวกว่ายใต้ธารใส
"เมื่อก่อนมีแต่รถบัสให้บริการ ไม่มีรถส่วนตัว ใครจะเชื่อว่าตอนนี้ทุกคนมีรถส่วนตัววิ่งกันแน่นถนน ต่อจากนี้เมืองเล็กๆ ก็จะเติบโตขึ้น ใครจะรู้ว่าเครื่องบินอาจบินว่อนไปทั่วฟ้า แล้ววันนั้นเราก็จะขอเป็นเครื่องบินลำเล็กที่เหมือนเป็นรถตู้ร่วมบริการ บินรับลูกค้าเสริมเครื่องบินพาณิชย์ที่อาจไม่ต่างจากรถเมล์ติดแอร์ในปัจจุบัน"ดร.เจน ชาญณรงค์ กล่าว
ปัจจุบันด้วยจุดขายและจุดแข็งของ เอส จีเอ ส่งผลให้ สายการบินต้นทุนต่ำอย่าง 'นกแอร์' อดรนทนไม่ไหวต้องเข้ามาใช้ประโยชน์จากจุดเด่นดังกล่าว พร้อมกับจับมือปรับตารางบินให้เอื้อต่อการเชื่อมต่อเส้นทางบินจากฐานการบินเชียงใหม่ ไปยัง 3 เมืองเล็กของภาคเหนือ ภายใต้การใช้สัญลักษณ์ร่วมรูป 'นก' พร้อมกับร่วมใช้ช่องทางการซื้อตั๋วโดยสาร อำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร ซึ่งดร.เจนเชื่อว่าจะมีผู้โดยสารกว่า 10-15 เปอร์เซ็นต์จากนกแอร์ มาต่อเครื่องบินเล็กเพื่อไปสู่จุดหมาย
ขณะเดียวกันตลาดนักธุรกิจซึ่งเป็นผู้บริหารและพนักงานของบริษัทต่างๆ (corporate) กับตลาดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ ทุกระดับชั้นและทุกกลุ่มอาชีพที่มีกำลังซื้อกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจเครื่องบินเล็ก และพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจอื่นที่สนใจ เช่น บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ที่ลูกค้าต้องการใช้บริการเข้ามาร่วมเครือข่าย เนื่องจากเครื่องบินเล็กเป็นพาหนะในการเดินทางที่คล่องตัว สามารถเปิดโลกทัศน์ของผู้โดยสารได้มาก
วิธีบริการจะมุ่งนำรูปแบบตามคอนเซ็ปต์ของแท็กซี่ หมายถึงผู้โดยสาร ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจหรือนักท่องเที่ยวสามารถกำหนดเส้นทางบินชมวิว หรือจุดหมายที่จะเดินทางด้วยเครื่องบินได้ด้วยตนเอง ส่วนเส้นทางที่บริษัทจะแนะนำขณะนี้กำลังทำการสำรวจ เช่น ในภูเขา หรืออ่างเก็บน้ำ หรือตามอุทยานแห่งชาติ วางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับกระแสการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและผจญภัย (eco-tourism)
หากเป็นไปได้จะพัฒนาทำโครงการที่ได้ประโยชน์ทางการท่องเที่ยวและรายได้ร่วมกัน (win win project) โดยจะขอให้กรมป่าไม้พัฒนาพื้นที่อุทยานแห่งชาติให้มีลักษณะเป็นซาฟารีเหมือนกับต่างประเทศ ส่วนสยาม จีเอก็จะทำเส้นทางออกไปเสนอขายให้ในตลาด เพียงแต่กรมป่าไม้จะมีนโยบายให้อุทยานฯที่มีความพร้อมจัดเตรียมสนามหญ้าความยาวประมาณ 800 เมตรให้เครื่องบินเล็กลงจอดได้ อุทยานฯก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนนักท่องเที่ยวก็จะได้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวด้วยเวลาอันรวดเร็ว และได้ชมสถานที่ธรรมชาติซึ่งมีทั้งความท้าทายและความสวยงาม
การลงทุนในธุรกิจเพียงเพื่อต้องการสร้างสินค้าใหม่ๆ เข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เบื้องต้นธุรกิจเครื่องบินเล็กต่างมีเครือข่ายพันธมิตรที่พร้อมจะร่วมบุกเบิกตลาดและส่งลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ทั้งที่มาจากตลาดนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวที่นับวันจะมีอัตราการเติบโตทั้งปัจจุบันและอนาคตอยู่มากพอสมควร
ยุทธศาสตร์ของการทำธุรกิจ
ขณะเดียวกันภายใต้ภาวะของการแข่งขันที่มีคู่แข่งขันทางการตลาดน้อยก็จริงแต่การใช้คอนเซ็ปต์ของดีราคาถูกซึ่งมีความปลอดภัยสูงเข้ามาเป็นกลไกสร้างตลาดยังเป็นยุทธวิธีหนึ่งที่ได้ผล เพราะนอกจากจะกระจายฐานเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการทุกกลุ่มให้สามารถเข้าไปสัมผัสกับการเดินทางท่องเที่ยวด้วยเครื่องบินแล้ว ธุรกิจเครื่องบินเล็กยังคงดำเนินต่อไปได้
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบิน เอส จีเอ กล่าวถึงการบริหารของถูกและดีจะเน้นองค์ประกอบ 4 ส่วน ได้แก่ มีความปลอดภัยสูง สามารถยืดหยุ่นหรืออ่อนตัวตามความต้องการของลูกค้าซึ่งสามารถยื่นข้อเสนอกับผู้จัดได้ ต้องเชื่อถือได้โดยบริการรับ-ส่ง ตรงเวลา ทำธุรกิจกันอย่างตรงไปตรงมา และต้องมีประสิทธิภาพในบริการเป็นเลิศ
นอกจากก้าวเล็กๆ ที่มั่นคง และเป้าหมายของการเป็นสายการบินประจำลำเล็กที่สุดและดีที่สุดในประเทศแล้ว เอส จีเอ ยังมองไปถึงบทบาทการเป็นโรงเรียน เพราะพบว่า ความฝันของเด็กรุ่นใหม่ที่อยากสวมชุดนักบิน มีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ จึงนำไปสู่นโยบายสยายปีกรับนักฝันที่อยากฝึกและเรียนรู้ ให้เข้ามาศึกษาและเข้าคอร์สการบิน เพื่อปั้นบุคลากรการบินที่ในที่สุดแล้วอาจเลือกไปเติบโตในสายการบินขนาดใหญ่...ก็ได้
ความถนัดเฉพาะทางด้านเครื่องบินเล็ก ยังสร้างประโยชน์ในบทบาทการเป็น 'ศูนย์ซ่อมเครื่องบินเล็ก' ที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง รองรับจำนวนเครื่องบินเล็กของบรรดาเศรษฐีในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปัจจุบัน อู่ซ่อมแซมเครื่องบินเล็กในประเทศกลับมีแค่รายเดียว กลายเป็นโอกาสที่จะสร้างรายได้ ซึ่ง 'โรงเรียนซ่อมเครื่องบินเล็ก' อยู่ในแผนของเอส จีเอ เรียบร้อยแล้ว
วันนี้ของธุรกิจ เครื่องบินลำเล็ก กำลังสร้างความสุขให้กับผู้ประกอบการและสร้างความพอใจให้กับผู้โดยสารถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงจุดเล็กๆ บนท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ และเป็นธุรกิจบริการที่ทำยาก กำไรน้อย แถมต้องเผชิญกับข้อกฎหมายมากมาย แต่การเป็นผู้บุกเบิกที่ต้องฝ่าฟันมรสุมมาก่อนใคร ถือเป็นความภูมิใจและความยิ่งใหญ่ของเครื่องบินลำเล็กที่นับวันจะกลายเป็นธุรกิจที่ไม่เล็กตามเครื่องบิน
เส้นทางเติบโตของ “นกเหล็กตัวจิ๋ว”
ปัจจุบันตลาดเครื่องบินส่วนตัวเช้าเหมาลำคนไทยยังรู้จักในวงจำกัดแต่ในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศในยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือแม้แต่อินเดีย ผู้บริหารใช้ในการเดินทางไปสาขาต่างเมือง ติดต่อธุรกิจหรือเพื่อการพักผ่อนอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ก่อการร้ายที่มีมากขึ้น ความต้องการใช้เครื่องบินส่วนตัวเช่าเหมาลำมีมากขึ้นตามลำดับ เพราะผู้โดยสารต้องการความปลอดภัย เชื่อได้ว่าตลาดนี้ยังมีการขยายตัวได้อีก
เครื่องบินเช่าเหมาลำทั่วโลกถูกแบ่งเป็นหลายประเภทตามแต่ละขนาดของเครื่องบินและเนื่องจากศักยภาพการบินของเครื่องบินแต่ละประเภทไม่เท่ากัน ส่งผลให้ภาพมูลค่าโดยรวมของตลาดเครื่องบินเช่าเหมาลำนั้นไม่สามารถชี้จำเพาะได้ แต่หากจะกล่าวถึงมูลค่าตลาดในประเทศไทยแล้ว ธุรกิจเช่าเหมาลำยังถือว่ามีมูลค่าไม่สูงมากนัก อาจด้วยเนื่องจากเป็นธุรกิจที่ยังไม่มีการแข่งขันสูงและต้องใช้การลงทุนด้วยต้นทุนที่มากพอสมควรจึงทำให้มูลค่าตลาดไม่มีความผันผวนและมีการเติบโตที่ค่อนข้างต่อเนื่องแต่ไม่รวดเร็ว
ปัจจุบันเครื่องบินเล็ก CESSNA CARAVAN นั้นเชื่อว่ามีอยู่ในตลาดรวมทั้งสิ้นกว่า 2,500 ลำ โดยจำนวนครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 1,200 ลำ จะถูกประเทศ ต่างๆ นำไปใช้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพราะเป็นเครื่อง มือในการทำรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะใน แถบทะเลแคริบเบียน และหมู่เกาะต่างๆ แอฟริกา ออสเตรเลียที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย
ส่วนสำหรับเครื่องบินที่เหลือทั้งหมด 1,300 ลำ บริษัท เฟเดอเรชั่น จำกัด ได้นำไปใช้เป็นยานพาหนะในการให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ ซึ่งเครื่องรุ่นนี้ประหยัดต้นทุน และเข้า-ออกตรงเวลา ให้ผลตอบแทนทางการลงทุนที่ดีและมีประสิทธิภาพสูง
อย่างไรก็ตาม เมื่อประมาณ 6 ปีก่อน เคยมีนักธุรกิจไทย แสงตะวัน ณ เชียงใหม่ (คัมภีรญาณนนท์)เปิดบริษัท โกบอล เอ็กเซกคิวทีฟ เอวิเอชั่น จำกัด เพื่อใช้เป็นใบเบิกทางสำหรับการเปิดตลาดการท่องเที่ยวแนวใหม่ด้วยวิธีการนำเข้าเฮลิคอปเตอร์ เริ่มต้นด้วยจำนวนเครื่องเพียง 2 ลำ ขนาด 4-12 ที่นั่ง เข้ามาให้บริการโดยเจาะตลาดนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ และด้วยอัตราการเติบโตของการบรรทุกที่ค่อนข้างรวดเร็วมากภายในเวลาเพียงแค่ 8 เดือน มีการสั่งนำเข้าเครื่องบินเข้ามาเพิ่มรวมทั้งฝูงจำนวนมากกว่า 32 ลำ
กลุ่มชาวต่างชิตที่นิยมใช้เครื่องบินส่วนตัว ส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติ ชาวยุโรป อเมริกัน ตลาดเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น ฮ่องกง อินเดีย ในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักกีฬาอาชีพที่มีชื่อเสียง ดารา นักร้อง นิยมใช้เครื่องบินส่วนตัวและมีเครื่องบินเป็นของตัวเอง หรือใช้บริการเครื่องบินส่วนตัวเช่าเหมาลำอยู่เป็นประจำ เมื่อบินมาประเทศไทยหรือในแถบเอเชีย ซึ่งอาจบินมาด้วยเครื่องส่วนตัวหรือสายการบินพาณิชย์ เมื่อมาถึงก็มักจะหาผู้ให้บริการเครื่องบินส่วนตัวเช่าเหมาลำเพื่อเดินทางในย่านนี้
ปัจจุบันเส้นทางของธุรกิจเครื่องบินเล็กกำลังกลายเป็นที่ถูกจับตามอง เนื่องจากปัจจัยหลายๆด้าน ทั้งต้นทุนไม่สูงจนเกินไปนัก อีกทั้งคู่แข่งขันที่มีอยู่จำนวนน้อยกอปรกับตลาดยังมีความต้องการสูง และภาครัฐให้การสนับสนุนเต็มที่เปิดเสรีทางการบินส่งผลให้มีเจ้าตลาดอีกหลายกลุ่มเตรียมแต่งตัวเข้ามาร่วมแข่งขันทางธุรกิจ อาทิเช่น บริษัท สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง จำกัด ของกลุ่ม แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ บริษัท สีชัง ฟลายอิ้ง จำกัด
สัญญาณ 'การเติบโต' ของธุรกิจให้เช่าเครื่องบินทั้งประเภทเฮลิคอปเตอร์ และเครื่องบินเล็ก จะกลายเป็นสีสันและทางเลือกใหม่ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในเมือง ไทยได้เป็นอย่างดีต่อไป